รู้จักกับปลาแซลมอน
แซลมอนเป็นปลาที่จัดอยู่ในอันดับ Salmoniformes และอยู่ในวงศ์ Salmonidae มีด้วยกันหลายสายพันธุ์ มีเนื้อสีส้มลวดลายสวยงาม โดยแซลมอนนั้นหลักๆจะมี 2 ประเภทคือ Atlantic Salmon และ Pacific Salmon สามารถรับประทานแบบสดๆแบบซาชิมิ หรือจะนำไปปรุงเมนูต่างๆ ทั้งนึ่ง ต้ม หรือย่าง รสชาติก็อร่อยไม่แพ้เนื้อปลาชนิดอื่นๆ เนื้อแซลมอนจะมีความแน่นแต่เมื่อกัดแล้วมีความนุ่มนวล มีประโยชน์มากเนื่องจากอุดมด้วย Omega 3 และไขมันดี
ประเภทของปลาแซลมอน
ประเภทของปลาแซลมอนนั้นจะแบ่งตามบริเวณที่อยู่อาศัยเป็นหลัก ปลาแซลมอนนั้นมีแหล่งที่อยู่ทางซีกโลกเหนือ แถบอเมริกาเหนือ อลาสก้า ยุโรปเหนือ และเอเชียเหนือ ซึ่งในมหาสมุทรแอตแลนติกนั้นจะมีเพียงแค่สายพันธุ์ Atlantic Salmon สายพันธุ์เดียวเท่านั้น ส่วนมหาสมุทรแปซิฟิคจะมีหลายสายพันธุ์ เช่น Sockeye Salmon, Chinook Salmon, Chum Salmon และ Pink Salmon เป็นต้น โดยทั่วไป Atlantic Salmon จะมีขนาดใหญ่กว่า ตัวโตเต็มที่จะมีความยาวประมาณ 120 ซม. และยาวได้ถึง 150 ซม. ซึ่ง Pacific Salmon จะมีขนาดมาตรฐานอยู่ที่ 50-70 ซม. ทั้งนี้สามารถพบได้ใน ออสเตรเลีย ดานูบ และฮาวายอีกด้วย
ปลาแซลมอน มีอายุโดยเฉลี่ยประมาณ 3-8 ปี แซลมอนสายพันธุ์แอตแลนติคจะมีอายุยืนยาวกว่าสายพันธุ์แปซิฟิค ตัวโตเต็มวัยจะอาศัยในน้ำเค็มและเริ่มต้นชีวิตจากน้ำจืด เพราะจะมีการผสมพันธุ์และวางไข่ในต้นแม่น้ำ แล้วมาเติบโตอย่างเต็มที่ในมหาสมุทรแล้วเมื่อโตเต็มวัยพร้อมที่จะผสมพันธุ์อีกครั้งก็จะวนกลับมาสู่บ้านเกิดที่เป็นแม่น้ำอีกครั้ง แต่โดยหลักการแล้วปลาแซลมอนถือว่าเป็นปลาทะเล วันนี้เราจะพาทุกท่านไปพบกับเรื่องราวที่น่าสนใจของแซลมอนและชีวิตของแซลมอนกัน
ปลาแซลมอนกลับสู่บ้านเกิดด้วยกลิ่น
มีผลงานการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับปลาแซลมอน เรื่องการกลับไปวางไข่ที่บ้านเกิดได้อย่างถูกที่ทุกรุ่น สาเหตุเพราะ “กลิ่น” ที่ถือว่าเป็นกลิ่นเฉพาะของแม่น้ำที่กำเนิด ซึ่งกลิ่นและภาพจำแม่น้ำนี้จะฝังอยู่ในความทรงจำของแซลมอนทุกตัว เพียงแค่ออกจากไข่ แซลมอนน้อยทั้งหลายก็จะจดจำสถานที่เกิดและกลิ่นของน้ำได้อย่างแม่นยำทันที
วางแผนให้การกำเนิดโดยตัวเมีย
เมื่อถึงฤดูวางไข่ ปลาแซลมอนตัวเมียจะมาถึงแม่น้ำก่อนตัวผู้ เพื่อจัดการหาสถานที่ที่เหมาะสม ปลาแซลมอนตัวเมียนั้นจะเลือก บริเวณที่น้ำจืดมีที่มีออกซิเจนสูง อุณหภูมิพอเหมาะเท่านั้น จากนั้นก็จัดแจงวิธีการผสมพันธุ์ด้วยการขุดรังด้วยปลายหางให้เป็นแอ่งแล้ววางไข่ลงไปในแอ่งนั้น เมื่อตัวผู้มาถึงก็สามารถเลือกที่จะปล่อยเชื้อของตัวเองลงไข่ที่ถูกเตรียมไว้ได้ทันที พอผสมพันธุ์จนเป็นตัวแล้วไข่นั้นก็จะเติบโตอย่างปลอดภัย เพราะแม่พันธุ์ได้จัดการพื้นที่ไว้เรียบร้อยแล้ว
มีชีวิตรอดกลับมาวางไข่เพียง 10%
ปลาแซลมอนจะวางไข่ในช่วงต้นฤดูฝนและฤดูหนาวของทุกปี แต่การกลับมานั้นจะต้องพบกับอุปสรรคมากมาย จากการที่ว่ายน้ำเป็นระยะทางไกลมากจากมหาสมุทรทวนน้ำไปยังแหล่งต้นน้ำน้ำจืดจึงทำให้จำนวนของปลาที่กลับมาผสมพันธุ์กันได้สำเร็จมีเพียง 10% เท่านั้น ส่วนที่เหลือก็สูญหายและตายไประหว่างทางและถูกจับไปเป็นอาหารจากสัตว์ชนิดต่างๆโดยเฉพาะหมีกริซลี่
ใช้ดวงดาวนำทาง
มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ได้ศึกษาว่าการที่ปลาแซลมอนสามารถกลับมาผสมพันธุ์กันที่เดิมได้อย่างน่าเหลือเชื่อ เกิดขึ้นจากการใช้ดวงดาวนำทางหรือใช้ปรากฏการณ์บนท้องฟ้า เช่น ตำแหน่งดวงอาทิตย์และการเคลื่อนที่ของดวงดาวมาเป็นตัวช่วยในการนำทางให้ปลากลับมาอย่างถูกที่เหมือนเดิมทุกครั้ง
ลูกอ่อนมีอาหารพร้อมในถุงไข่
เมื่อลูกปลาเกิดมาเป็นตัวอ่อน ทั้งตัวจะมีเพียงหางเท่านั้นที่ทำให้ตัวปลาเคลื่อนที่ได้ โดยใช้เวลาในการฟักตัวประมาณ 3-4 เดือน ในหลุมจะมีไข่ทั้งหมด 2,000-10,000 ฟอง และแต่ละตัวจะมีถุงไข่ติดตัวมาด้วย ซึ่งถุงไข่นั้นจะเป็นอาหารประจำตัวของตัวอ่อนอยู่ตลอดจนกระทั่งโตถุงก็จะหายไป ลูกอ่อนของปลาแซลมอนในแต่ละสายพันธุ์จะมีความแกร่งที่ไม่เท่ากัน ดังเช่นสายพันธุ์ชีนุ๊คจะเริ่มว่ายกลับทะเลตั้งแต่ยังเป็นลูกอ่อน แต่สายพันธุ์โคโฮกลับต้องอาศัยอยู่ในน้ำจืดนานเป็นปีถึงจะยอมกลับไปสู่ทะเล นอกจากนี้ยังมีปลาแซลมอนบางตัวที่ไม่ยอมออกทะเลและใช้เวลาอยู่ในทะสาปนานกว่า 3 ปี ถึงจะยอมออกไปสู่ทะเลอีกด้วย
2 ปีแห่งความอดทน
โดยทั่วไปแล้วลูกปลาแซลมอนจะมุ่งสู่ทะเลเมื่ออายุได้ 2 ปี หรือเมื่อมีความยาวลำตัวประมาณ 5 นิ้ว ซึ่งเป็น 2 ปีที่ต้องอดทนสูงมาก เพราะต้องเอาชีวิตรอดจากอุปสรรคต่างๆ ทั้งใต้น้ำและสัตว์กินปลาบนบก ซึ่งปลาแซลมอนอายุ 2 ปีส่วนใหญ่จะไปอาศัยอยู่บริเวณปากแม่น้ำที่เป็นน้ำกร่อย ซึ่งเป็นบริเวณที่ผสมกันระหว่างน้ำจืดและน้ำเค็ม เพื่อปรับสภาพตัวเองให้อยู่ในน้ำเค็มได้ เมื่อพร้อมแล้วก็จะออกสู่ท้องทะเล
กลับสู่ท้องทะเลเมื่อโตเต็มวัย
เมื่อปลาแซลมอนมุ่งสู่ท้องทะเลแล้วมีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป นั่นเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ามันโตเต็มวัยแล้ว ปลาแซลมอนในช่วงนี้จะเน้นกินกุ้ง ปลาหมึก และปลาตัวเล็ก โดยจะออกไปอาศัยอยู่ห่างจากแหล่งเกิดหรือห่างจากปากแม่น้ำถึง 2,000 ไมล์เลยทีเดียว
การวางไข่คือความพยายามครั้งสุดท้าย
ปลาแซลมอนโด่งดังมากเรื่องความพยายามในการว่ายทวนน้ำเพื่อไปวางไข่ เมื่อปลาแซลมอนรู้ตัวว่าต้องกลับมาวางไข่เพื่อขยายเผ่าพันธุ์ตัวเอง จะทำทุกวิถีทางที่จะว่ายกลับมาเพื่อวางไข่ และเมื่อความพยายามสุดท้ายเป็นผล ปลาแซลมอนที่ผสมพันธุ์เสร็จแล้วก็จะตายลงภายใน 1 สัปดาห์ พร้อมกลายเป็นอาหารของสัตว์ในธรรมชาติต่อไป
ประโยชน์ของแซลมอน
ปลาแซลมอนถือว่าเป็นเนื้อสัตว์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก โดยมีกรดไขมันโอเมกา-3สูง, โปรตีนสูง, กรดอะมิโนธรรมชาติ, วิตามินเอ, วิตามินดี, วิตามินB6, วิตามินB12 พร้อมไปด้วยแร่ธาตุอีกหลากหลายชนิด เช่น ไนอาซิน, ไรโบเฟลวิน, ธาตุเหล็ก, แคลเซียม, สังกะสี และแมกนีเซียม สามารถรับประทานได้อย่างมีคุณค่าทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพราะเป็นเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย มีประโยชน์ต่อร่างกายสูงมาก ไม่มีโทษ ช่วยลดอัตราความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจและโรคมะเร็งได้ดีอีกด้วย
แซลมอนมีประโยชน์แต่ต้องระวัง
ปลาแซลมอนมีประโยชน์ต่อร่างกายของมนุษย์สูงก็จริง แต่ก็ยังต้องระวังเรื่องการทานสดให้มาก เพราะในเนื้อปลาแซลมอนมีพยาธิชนิดอะนิซาคิสและไมโซซัวอยู่ด้วย ซึ่งจะมีลักษณะเป็นเม็ดขาวๆแข็ง ดังนั้นจึงควรเน้นเรื่องความสะอาดให้มาก รับประทานซูชิหรือเนื้อปลาแซลมอนสดจากแหล่งหรือร้านอาหารที่ไว้ใจได้ แต่ถ้าทานแบบปรุงสุกได้ก็จะดีที่สุด
เมนูแซลมอน จานโปรดของหลายๆคน
ปลาแซลมอนนั้นเป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วโลกเนื่องจากรสชาติอันโดดเด่น มีความหวานและมันของเนื้อจึงสามารถประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ที่ฮิตติดชารต์คงหนีไม่พ้น ซาชิมิ เสต็ก รวมไปถึง ปลาแซลมอนย่างซิอิ๊วหรือย่างเกลือ หัวปลาแซลมอนต้มซิอิ๊ว
แซลมอนในท้องตลาดส่วนใหญ่นั้นมาจากฟาร์ม
ในปัจจุบันนั้นมีการบริโภคกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ประเทศนอร์เวย์เป็นผู้ผลิตและส่งออกที่ใหญ่ที่สุดในโลกถึง 1.3 ล้านตันต่อปี เกือบทั้งหมดเป็นปลาที่เลี้ยงในฟาร์ม เนื้อของปลาแซลมอนฟาร์มปกติจะมีไขมันและลายมากกว่าแซลมอนธรรมชาติ