ใบกระวาน คืออะไร มีกี่สายพันธุ์ ใช้ปรุงอาหารอะไรบ้าง
ใบกระวาน เป็นเครื่องเทศที่มีการใช้ปรุงอาหารอย่างแพร่หลายมาก มีกลิ่นหอมฉุนเฉพาะตัว มีรสขมเล็กน้อย มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Bay Leaf คนไทยอาจเรียกว่า ใบเบย์หรือเบย์ลีฟ ทับศัพท์เลย มีการใช้ใบกระวานปรุงอาหารมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยกรีกและโรมัน ใบกระวานนั้นจริงๆแล้วไม่ใช่ใบจากต้นกระวาน แต่มาจากพืชหลากหลายชนิดซึ่งมีกลิ่นคล้ายกระวาน โดยส่วนมากใบกระวานที่ใช้ปรุงอาหารนั้นจะมาจากสายพันธุ์ที่เรียกว่า Bay laurel (ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Laurus nobilis ซึ่งเป็นพืชในวงศ์ Lauraceae) ใบกระวานชนิดนี้มีใบมีลักษณะเรียบ สีเขียว รูปหอก ลักษณะต้นเป็นพุ่มสีเขียวตลอดปี สามารถใช้ได้ทั้งใบสดและใบแห้ง มีปลูกมากแถบทะเลเมอดิเตอเรเนียนโดยเฉพาะสเปนและโปรตุเกส ใบกระวานมีกลิ่นหอมแนวสมุนไพรและดอกไม้เครื่องเทศคล้าย ออริกาโนและไทม์
ใบกระวาน สามารถใช้ปรุงอาหารได้หลากหลากชนิด นิยมใช้ทำซุป สตูว์ หมักเนื้อสัตว์ ทำซอสต่างๆในอาหารอิตาเลียนและฝรั่งเศษ ปรุงรสพาสต้า ใช้เป็นส่วนผสมของช่อสมุนไพร Bouquet Garni เพื่อต้มซุป ทำข้าวหมก ใช้เป็นเครื่องเทศปรุงอาหารของแกงอินเดีย รวมทั้งแกงมัสมั่นด้วย หรือแม้แต่ผสม Cocktail อย่าง Bloody Mary โดยใบกระวานมีในรูปแบบของใบสด ใบแห้งเต็มใบ และ ใบแห้งป่น ซึ่งใบกระวานแบบแห้งนั้นจะมีกลิ่นที่จัดเข้มข้นกว่าแบบสดอยู่มาก
สรรพคุณของใบกระวาน นั้นสามารถใช้เป็นยารักษาโรคได้อีกด้วย มีฤทธิ์ต่อต้านจุลินทรีย์ สามารถลดอาการท้องอืด จุกเสียดแน่นท้อง ขับลม ปวดท้องได้
ชนิดและประเภทของใบกระวาน
ใบกระวานนั้นมาจากพืชหลากหลายชนิดจากหลายประเทศทั่วโลก อาทิ
1. Bay Laurel (Laurus nobilis) เป็นใบกระวานที่มีการใช้มากที่สุด พบมากและมีถิ่นกำเนิดแถบเมอดิเตอเรเนียน
2. California Bay Leaf (Umbellularia californica) พบแถบรัฐแคลิฟอเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา บางครั้งอาจะเรียกว่า California Laurel มีกลิ่นที่คล้าย Bay Laurel แต่มีกลิ่นที่เข้มกว่า
3. Indian Bay Leaf (Cinnamomum tamala) เป็นสายพันธุ์ที่มีกลิ่นคล้ายอบเชย (Cinnamon) แต่อ่อนกว่า ใช้กับสูตรอาหารที่แตกต่างกับ Bay Laurel
4. Indonesian bay leaf or Indonesian laurel (Syzygium polyanthum) อาจเรียกว่า Salam Leaf ซึ่งพบมากในประเทศอินโดนีเซีย ใช้มากในการปรุงเนื้อสัตว์
5. West Indian bay leaf (Pimenta racemosa) ส่วนมากใช้ปรุงอาหารแถบประเทศทะเลแคริเบียน รวมทั้งใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอม
6. Mexican bay leaf (Litsea glaucescens)
เครื่องเทศจีน 5 อย่าง ปรุงอาหารก็อร่อย พร้อมให้ประโยชน์ด้านสุขภาพ
เครื่องเทศจีน 5 อย่าง เป็นเหตุผลหลักของรสและกลิ่นของอาหารจีนที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว ซึ่งไม่ต่างจากประเทศไทยทุกประเภทต้องมีส่วนผสมของเครื่องเทศและสมุนไพรต่างๆ เช่นกัน ชาวจีนมีความเชื่อเรื่องการปรับธาตุที่แม้แต่ในอาหารก็ต้องมีความเป็นหยินและหยางที่สมดุลกันเสมอ มีความสมดุลของฤทธิ์ร้อนและเย็น เมื่อรับประทานแล้วสุขภาพต้องดี มีประโยชน์ต่อร่างกายและมีสมดุล พร้อมช่วยรักษาหรือระงับอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากธาตุที่ไม่สมดุลกันภายในร่างกายได้ดีอีกด้วย เครื่องเทศจีนจึงกลายเป็นที่นิยมทั่วโลก วันนี้ทางร้านช้อนกลางจะพาทุกท่านไปรู้จักกับ ประเภทเครื่องเทศจีน ประโยชน์ของเครื่องเทศจีน 5 ชนิด เครื่องเทศจีน 5 ชนิดนั้นคือ
1. อบเชย (Cinnamon)
Cinnamon หรือ อบเชย มีด้วยกันหลายชนิดและแต่ละชนิดจะมีคุณภาพที่แตกต่างกันออกไป ส่วนของอบเชยนั้นจะมาจากเปลือกชั้นในของลำต้น (Inner Bark) สำหรับ อบเชย ของประเทศจีนถือว่าเป็นสายพันธุ์คุณภาพดี มีชื่อเป็นภาษาจีนว่า โย่วกุ้ย, กวนกุ้ย หรืออิกุ้ย เป็นเครื่องเทศจีนที่นิยมปลูกในแถบมณฑลด้านใต้ของจีน ในเขตมณฑลกวงสี ยูนนาน และกวางตุ้ง เพราะมีอากาศและดินที่เหมาะกับการเจริญเติบโต อบเชย ของจีนจะมีกลิ่นหอม ให้รสชาติออกหวานนิดๆ เผ็ดเล็กน้อยและมีฤทธิ์ร้อน สามารถนำมาทำอาหารหลากหลายทั้ง อาหารคาว ขนมหวาน และเครื่องดื่ม เช่น เป็นส่วนผสมในแกงกะหรี่ เป็นไส้ของขนมกะหรี่ปั๊บ เป็นส่วนผสมของเครื่องพะโล้ เป็นส่วนผสมของเบเกอรี่ โรยบนหน้ากาแฟร้อนหรือกาแฟเย็น เป็นส่วนหนึ่งในเครื่องเทศจีน 5 ชนิด เป็นต้น ส่วนคุณประโยชน์ของอบเชยมีตั้งแต่การเป็นสารต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัสที่ดีเยี่ยม พร้อมช่วยลดอาการอักเสบต่างๆ ภายในร่างกาย สำหรับสาวๆ ที่ปวดประจำเดือนบ่อยครั้ง ช่วยระงับอาการปวดนี้ให้ดีขึ้นได้อีกด้วย
2. โป๊ยกั๊ก หรือ ป๋วยกั๊ก (Star Anise)
Star anise หรือในชื่อไทย คือ โป๊ยกั๊ก และ จันทร์แปดกลีบ เป็นเครื่องเทศที่ให้ความเผ็ดร้อน กลิ่นฉุน มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศจีนตอนล่างและเวียดนามตอนบน ส่วนที่นำมาใช้เป็นเครื่องเทศจีนนั้นจะใช้เพียงส่วนของเมล็ดผลแก่ที่มีรูปทรงคล้ายกับดาว 8 แฉกเท่านั้น โดยจะนำไปตากแดดและอบแห้งจนกลีบกลายเป็นสีน้ำตาลเข้ม ภายในกลีบจะมีเมล็ดเล็กๆอยู่ เมื่อต้องการนำมาปรุงอาหารหรือทำเป็นตัวยาสมุนไพร ก็จะนำ โป๊ยกั๊ก มาบดให้เป็นผง ในอาหารบางชนิดก็ใส่ทั้งเมล็ด มีผลต่อกลิ่นที่หอมอบอวลแบบสมุนไพร รสชาติหวานนิดๆ ให้ความเผ็ดร้อนได้ดี นิยมนำมาทำอาหารทั้งคาวและหวาน เช่น ใช้เป็นผงหมักเนื้อสัตว์ เป็นหนึ่งส่วนผสมของอาหารตุ๋นยาจีน ผสมลงในแกงหลากหลายประเภท ใช้แต่งกลิ่นของขนมและเบเกอรี่ เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องพะโล้ และมีการนำไปใช้แต่งกลิ่นให้กับเครื่องดื่มแอลกฮอล์อีกด้วย มีสรรพคุณที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยขับลม เพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยอาหาร ลดปัญหาท้องผูก ขับเสมหะ รักษาอาการเหน็บชา ช่วยบำรุงสุขภาพ เป็นเครื่องเทศจีนอีกชนิดที่มีคุณสมบัติทางยาที่ดีชนิดหนึ่ง
3. พริกไทยเสฉวน (Sichuan Pepper)
ถ้าคุณเป็นคนที่ชื่นชอบการทานหมาล่า หรือ อาหารปิ้งย่างของจีนที่รสชาติเผ็ดร้อน คุณก็ต้องรู้จัก Sichuan Pepper หรือ ชวงเจียว ที่มีชื่อไทยว่า พริกหอมหรือพริกไทยเสฉวน เป็นหนึ่งในเครื่องเทศจีน 5 อย่าง ให้รสชาติเผ็ดร้อน เผ็ดซาบซ่า มีกลิ่นหอม เพิ่มรสชาติให้กับอาหารพร้อมดับกลิ่นคาวในเนื้อสัตว์ได้ดีอีกด้วย มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศจีน นิยมปลูกมากในมณฑลเสฉวน จะมีลักษณะที่คล้ายกับเม็ดพริกไทยดำของประเทศไทย แต่ พริกไทยเสฉวน (Sichuan Pepper) จะมีสีแดงออกเหลือง เป็นเม็ดแบบแห้งที่เมื่อนำมาใช้จะบดให้ละเอียดแล้วได้ออกมาเป็นผงสีแดง สามารถนำมาเป็นส่วนผสมของอาหารต้ม ผัด ทอด หรือปิ้งย่างได้ตามที่ต้องการ นอกจากนี้ยังสามารถนำเม็ดอบแห้งมาใส่เพื่อเพิ่มกลิ่นและรสชาติในกุ้งอบวุ้นเส้น ซุปเผ็ดของจีน หมักเนื้อย่าง และเต้าหู้ผัดเสฉวน เป็นต้น มีสรรพคุณที่ดีต่อร่างกาย คือ บำรุงร่างกาย บำรุงโลหิต ปรับธาตุภายในร่างกายให้สมดุล ลดอาการท้องอืดและท้องเฟ้อ ลดความดันโลหิต ขับปัสสาวะ และช่วยขับพยาธิได้ดี
4. กานพลู (Clove)
Clove หรือในชื่อไทยว่า กานพลู สมุนไพรคุ้นเคยของคนไทยมาอย่างยาวนาน โดยจะใช้ส่วนของดอกตูมตากแห้งมาประกอบอาหาร หลายคนเข้าใจว่ากานพลูนั้นเป็นเครื่องเทศที่มีถิ่นกำเนิดจากจีน แต่ในความเป็นจริงแล้ว กานพลูเป็นพืชพื้นเมืองของประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ถ้าเจาะลึกลงไปถึงประวัติศาสตร์เมื่อ 200 กว่าปีก่อน พบว่าประเทศจีนเป็นประเทศแรกที่นำดอกตูมของกานพลู หรือ Clove มาใช้ประโยชน์ในเรื่องการดับกลิ่นปากและนิยมใช้ในกลุ่มราชวงศ์ชั้นสูงเท่านั้น พร้อมนำมาทำเป็นยาบำรุงที่มีสรรพคุณช่วยย่อยอาหาร แก้อาการท้องเสีย รักษาโรคไส้เลื่อน นอกจากนี้ยังช่วยรักษาโรคผิวหนังหลากหลายชนิดได้อีกด้วย การพลูเป็นหนึ่งในเครื่องเทศจีน 5 อย่าง นิยมนำมาประกอบอาหาร พร้อมด้วยคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์มากมาย เช่น เป็นส่วนผสมของยาสีฟันสมุนไพร ผสมในขนม และน้ำมันกานพลูยังนำมาผสมกับสมุนไพรอื่นๆ แล้วสูดดมเพื่อแก้อาการวิงเวียนได้อีกด้วย จุดเด่นของ Clove หรือกานพลู คือ มีกลิ่นหอม รสชาติเผ็ด สามารถใช้งานได้ทั้งต้น ไม่ว่าจะเปลือก ใบ ดอกตูม หรือลำต้น
5. ยี่หร่า (Fennel Seed)
Fennel Seed หรือ เทียนขาว คนไทยจะรู้จักกันในชื่อ ยี่หร่า มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศทางแถบเมดิเตอร์เรเนียน เป็นพืชมีดอกในตระกูลแครอท เป็นหนึ่งในเครื่องเทศจีน 5 อย่างและสมุนไพรที่นิยมนำมาเป็นส่วนผสมของอาหาร นำมาผลิตเป็นยาสมุนไพร และเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง มีกลิ่นหอมฉุน ให้รสชาติออกเผ็ด สามารถนำมาใช้งานได้ทั้งต้นไม่ว่าจะเป็นเมล็ด ใบ ดอก หรือลำต้น แต่ที่นิยมคือนำมาทำเครื่องเทศคือเมล็ด นิยมนำมาบดหรือใช้ทั้งเมล็ดแบบอบแห้งเพื่อเพิ่มกลิ่นหอมและสร้างรสชาติที่เผ็ดร้อน ส่วนใหญ่แล้วจะนำมาทำอาหารประเภทผัด ตุ๋น ต้ม และอบ หรือนำมาเป็นส่วนผสมเพื่อหมักเนื้อต่างๆ ดับกลิ่นคาวได้ดี พร้อมให้สรรพคุณที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย คือ ช่วยบำรุงธาตุภายในร่างกาย ปรับสมดุลธาตุ ลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยขับลม ลดอาการท้องเสีย และลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้
เครื่องเทศจีนทั้ง 5 ชนิดนี้ ไม่ได้เพียงแค่ให้รสชาติและกลิ่นที่ดีเท่านั้นแต่ยังให้คุณประโยชน์กับสุขภาพอย่างมากอีกด้วย ดังนั้นคุณจึงสามารถซื้อเครื่องเทศเหล่านี้มาเป็นส่วนผสมของอาหารได้อย่างไม่ต้องกังวล เพราะนอกจากคุณจะได้อาหารอร่อย รสชาติดีแล้ว คุณยังมีสุขภาพที่แข็งแรงและลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายต่างๆ ได้ดีอีกด้วย
ใบไทม์ คืออะไร (Thyme) ใช้ทำอะไร มารู้จักกับสมุนไพรเครื่องเทศคู่ครัวอาหารตะวันตก
ใบไทม์ (Thyme) เป็นอีกหนึ่งสมุนไพรเครื่องเทศที่มีการใช้มากที่สุดอย่างนึงของอาหารตะวันตก โดยเฉพาะอาหารแถบเมอดิเตอเรเนียน ใบไทม์นั้นจะเรียกชื่อทับศัพท์ตามชื่อภาษาอังกฤษเลย ไม่ได้มีชื่อเฉพาะภาษาไทย คนไทยบางคนอาจเรียกว่าใบทามหรือใบไธม์ ไทม์นั้นเป็นพืชที่มีสีเขียวตลอดทั้งปี มีลักษณะลำต้นเป็นพุ่มเลื้อย ใบมีลักษณะเรียวเล็กแหลม มีกลิ่นหอม ลักษณะต้นเป็นเถาจัดอยู่ในตระกูลเดียวกับมิ้นท์ (Lamiaceae) และออริกาโน (Oreganum) ดอกมีสีขาวและสีม่วง พันธุ์ของไทม์ที่นิยมใช้มากที่สุดจะเป็นพันธุ์ Thymus Vulgaris ต้นไทม์จะชอบอากาศร้อน มีแสงแดดและดินร่วยซุย สามารถเติบโตได้ในป่าและภูเขาเช่นกัน กลิ่นหอมของใบไทม์นั้นมาจากน้ำมันหอมระเหยและสารที่ชื่อว่า Thymol
ใบไทม์ใช้ทำอะไร
มีการใช้ใบไทม์หลากหลายทั้งเป็นเครื่องปรุง เครื่องเทศ เนื่องจากมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ใช้จัดจานเนื่องจากกิ่งและใบมีความสวยงาม สามารถใช้ปรุงอาหารได้ทั้งแบบสดและแบบแห้ง รวมทั้งสามารถใช้เป็นยาได้เนื่องจากไทม์มีสรรพคุณต่อต้านจุลินทรีย์ แก้อาหารเจ็บคอ ลดอาการอักเสบของช่องปากลำคอ และระบบทางเดินอาหารได้
ประวัติของไทม์
ต้นไทม์และใบทามนั้นมีประวัติอย่างยาวนานมากตั้งแต่ยุคอียิปต์และกรีกโบราณ มีการใช้ในงานศาสนาพิธีด้วย ซึ่งต่อมาชาวโรมันได้นำใบไทม์มาใช้และเป็นที่แพร่หลายในยุโรปเวลาต่อมาซึ่งในยุคของชาวโรมันนั้นจะใช้ปรุงแต่งรสของชีสและสุราด้วย
การใช้ใบไทม์ปรุงอาหาร
ใบไทม์สามารถใช้ได้ทั้งต้นสดและแบบแห้ง โดยแบบสดจะให้กลิ่นที่สดชื่นและแรงกว่าแบบแห้ง สามารถนำใบไทม์ไปหมักเนื้อสัตว์ หรือ อบ ทอดพร้อมเนื้อสัตว์ได้ เข้ากันได้ดีกับ เนื้อไก่ ปลา เนื้อวัว และนำไปประกอบมัดรวมกับเครื่องเทศชนิดอื่นเช่น ใบกระวาน เซจ พาสลีย์ เพื่อใช้ต้มน้ำซุป น้ำสต๊อกหรือสตูว์ได้ที่เรียกกันว่า Bouquet Garni รวมทั้งสามารถตัดกิ่งไทม์พื่อประดับจานได้อีกด้วย เคล็ดลับอย่างนึงคือสารที่ให้กลิ่นหอมของใบไทม์นั้นมาจากน้ำมันหอมระเหย (Thymol) ดังนั้นในการดึงกลิ่นอออกมามากที่สุด ควรใช้น้ำมันหรือเนยที่ร้อนปรุงเพื่อให้ได้กลิ่นที่ชัดเจน การทุบหรือบี้ใบไทม์เบาๆก่อนนำไปปรุงจะทำให้กลิ่นหอมชัดเจนขึ้น
ไทม์พันธุ์ต่างๆ ไทม์นั้นมีหลายสายพันธุ์ ตัวอย่างเช่น
วินเทอร์ไทม์ และ ซัมเมอร์ไทม์ (Winter Thyme & Summer Thyme) Thymus vulgaris เป็นชนิดของไทม์ที่มีการใช้ปรุงอาหารมากที่สุด บางครั้งอาจเรียกว่า English Thyme หรือ French Thyme โดย ซัมเมอร์ไทมจะมีใบไทม์เรียวเล็กกว่าเหมือนเข็มและวินเทอร์ไทม์จะมีความอ้วนและสั้นกว่า สามารถใช้ปรุงอาหาร จัดจานเพื่อความสวยงาม หรือใช้เป็นยา
เลมอนไทม์ (Lemon Thyme or Citrus Thyme) Thymus citriodorus ใบไทม์ที่มีกลิ่นคล้ายเลมอนหรือพืชตระกูลซิตรัส ผสมไทม์ หรือมีกลิ่นคล้ายตะไคร้อ่อนๆ สามารถใช้ได้ทั้งปรุงอาหาร ตกแต่งจานและใช้เป็นยา โดยเข้ากันได้ดีกับอาหารประเภทปลา
คาราเวย์ไทม์ (Caraway Thyme) Thymus herba-barona ไทม์ชนิดนี้มีกลิ่นคล้าย
เมล็ดยี่หร่าซึ่งเป็นที่มาของชื่อพันธุ์นี้ มีถิ่นกำเนิดแถบ อิตาลีและสเปน
ไทม์ป่า (Wild Tyhme) Thymus praecox และ Thymus serpyllum เป็นไทม์ที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ส่วนมากจะใช้ในการตกแต่งจานมากกว่า สำหรับ Thymus praecox นั้นเป็นใบไทม์ชนิดนี้จะมีขนาดเล็กเป็นฝอย และมีดอก อาจปลูกเป็นพืชคลุมดินได้เช่นกัน ส่วน Thymus serpyllum จะมีขนาดใบที่ใหญ่กว่า
น้ำมันพืช 10 ชนิดที่นิยมใช้ปรุงอาหาร
น้ำมันพืชในปัจจุบันมีหลากหลายชนิดมาก ประเภทน้ำมันพืชที่ใช้ปรุงอาหารนั้นสามารถพบเห็นได้มากมายเรียงรายตามชั้นวางในตลาดหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต หลายคนอาจอาจสงสัยว่า น้ำมันพืชปรุงอาหารมีกี่ชนิด แต่ละชนิดควรนำไปทำอะไร ชนิดไหนบ้างที่ใช้ในการทำอาหารร้อนเช่น ผัด ทอด ชนิดใดบ้างที่ใช้ปรุงอาหารเย็น ควรเลือกใช้ประเภทน้ำมันพืชให้เหมาะสมอย่างไร น้ำมันพืชแต่ละชนิดแต่ละประเภทมีความแตกต่างอย่างไร มีประโยชน์และข้อควรระวังอย่างไรบ้าง วันนี้ทีมงานช้อนกลางได้รวบรวมข้อมูลไว้แล้ว
1 น้ำมันถั่วเหลือง (Soybean Oil)
น้ำมันถั่วเหลืองเป็นน้ำมันพืชปรุงอาหารยอดฮิตที่คนทำอาหารชื่นชอบและพบเห็นอยู่เป็นประจำอย่าง “น้ำมันถั่วเหลือง” ผลิตจากเมล็ดถั่วเหลืองที่ใช้อุณหภูมิสูงกว่า 60 - 88 องศาเซลเซียลอุ่นสกัดน้ำมันให้แตก หลังจากนั้นบ่มกับความชื้นทำให้ได้น้ำมันบริสุทธิ์ใช้ปรุงอาหารได้ ประโยชน์น้ำมันถั่วเหลืองดีต่อสุขภาพอุดมด้วยกรดไลโนเลอิกวิตามินอี และวิตามินเคที่ดีต่อสุขภาพเส้นผม กระดูก บำรุงผิวหนัง และลดความเสี่ยงความดันโลหิตสูง หากรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ
น้ำมันถั่วเหลือง เหมาะสำหรับ : ผัดอาหาร ใช้ปรุงทำขนม หรืออาหาร สามารถใช้ทำสลัดได้ ไม่ควรใช้น้ำมันถั่วเหลืองทอดเวลานาน
2 น้ำมันปาล์ม (Palm Oil)
น้ำมันปาลม์ผลิตมาจากผลปาล์มอุดมไปด้วยวิตามินอีและวิตามินเอใช้ประกอบอาหารประเภทผัด และทอดน้ำมันท่วมที่ทนความร้อนสูง ซึ่งน้ำมันปาล์มทอดอาหารอร่อยกว่าน้ำมันทั่วไป เพราะช่วยคงรสชาติเดิมเอาไว้ไม่เปลี่ยน แถมน้ำมันปาล์มยังมีข้อดีคือราคาไม่แพงทำให้คนปรุงอาหารนิยมใช้กันในวงกว้าง แต่มีปริมาณกรดไขมันไม่อิ่มตัวค่อนข้างสูงหากรับประทานปริมาณมากจะทำให้ร่างกายมีคลอเลสเตอรอลสูงได้
น้ำมันปาล์ม เหมาะสำหรับ : ทอด เพราะทำให้อาหารกรอบนาน อร่อย และมีสีสันส่วน คงรสชาติอาหารได้ดีกว่าน้ำมันประเภทอื่น ๆ
3 น้ำมันข้าวโพด (Corn Oil)
พูดถึงน้ำมันข้าวโพด เป็นน้ำมันพืชปรุงอาหารที่ทนความร้อน แต่น้ำมันข้าวโพดนั้นมีความแตกต่างจากน้ำมันปาล์ม เพราะเมื่อโดนความร้อนจะมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ จากข้าวโพด สร้างสีสันให้เมนูอาหารได้เป็นอย่างดี มาพร้อมกับกรดไขมันสำคัญดีต่อสุขภาพ ได้แก่ กรดโอเลอิก และกรดไลโนเลอิก มีแคลอรี่ต่ำ แนะนำให้รับประทานแต่พอเหมาะ ปัจจุบันมีให้เลือกซื้อหลากหลายสามารถเลือกได้ตามความต้องการ
น้ำมันข้าวโพด เหมาะสำหรับ : ใช้ทอดอาหาร นิยมใช้ทอดเฟรนฟราย
4 น้ำมันมะกอก (Olive Oil)
เป็นอีกประเภทน้ำมันพืชใช้ปรุงอาหารที่ได้รับความนิยมในการปรุงอาหารยุโรปและตะวันตก กลิ่นหอมอ่อน ๆ ที่ทำให้น้ำมันมะกอกแตกต่างจากน้ำมันพืชชนิดอื่น ข้อควรระวังคือน้ำมันมะกอกนั้นสามารถแบ่งได้หลายประเภท ซึ่งน้ำมันมะกอกแต่ละประเภทนั้นจะทนความร้อนได้แตกต่างกัน ทิ น้ำมันมะกอกนี้เป็นน้ำมันที่ไม่สามารถทนความร้อนสูงได้ เช่น น้ำมันมะกอกเอ็กตร้าเวอร์จิ้น ผู้คนจึงนิยมรับประทานทอดไฟอ่อน ๆ หรือรับประทานกับผักสลัด ส่วนประเภทที่ทนความร้อนได้สูงจะเป็นประเภท Extra Light Olive Oil สามารถนำไปผัดหรือทอดได้
น้ำมันมะกอก เหมาะสำหรับ : Extra Virgin Olive Oil ใช้ปรุงอาหารที่ไม่ใช้ความร้อนเช่นทำน้ำสลัด ห้ามทอดนานหรือไฟที่ร้อนเกิน ฯลฯ Extra Light เหมาะสำหรับการทอดหรือผัดที่ใช้ความร้อนสูงได้
5 น้ำมันอะโวคาโด (Avocado Oil)
สำหรับน้ำมันอะโวคาโด จัดเป็นน้ำมันพืชที่มีราคาค่อนข้างสูง มาพร้อมกับปริมาณไขมันอิ่มตัวสูงแต่น้อยกว่าน้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม ด้วยประโยชน์จากน้ำมันอะโวคาโดที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นอีกอาหารที่ถูกเรียกว่าเป็น Superfood เพราะมีประโยชน์สูงกินแล้วสุขภาพดี ไม่ต้องกลัวอ้วน ด้วยสรรพคุณช่วยลดคอเลสเตอรอลและป้องกันการอ้วนลงพุงได้เป็นอย่างดี
น้ำมันอะโวคาโด เหมาะสำหรับ : นิยมใช้เป็นน้ำมันย่างเนื้อ, หมู สเต็ก ใช้ปรุงน้ำสลัด และปรุงอาหารที่ใช้อุณหภูมิสูง หมักกับเนื้อก่อนย่างช่วยทำให้เนื้อมีรสชาติโดดเด่น
6 น้ำมันมะพร้าว (Coconut Oil)
ถือเป็นอีกหนึ่งน้ำมันพืชเพื่อสุขภาพ เป็นอีกของดีขึ้นชื่อที่คนรักสุขภาพต้องมีติดบ้านไว้จริง ๆ สามารถเพิ่มไขมันดีหรือ HDL ได้ ส่วนใหญ่น้ำมันมะพร้าวในตลาดจะผลิตด้วยกรรมวิธีสกัดเย็นด้วยวิธีการเหวี่ยงที่ความเร็วสูง น้ำมันมะพร้าวประกอบด้วยไขมันที่อิ่มตัวสูง สามารเป็นไขได้ในอุณหภูมิปกติ แม้น้ำมันมะพร้าวจะใช้ปรุงอาหารได้ ปัจจุบันถูกนำมาเป็นตัวช่วยหมักผม ทาหน้า และเป็นไอเทมเสริมความงามที่หลากหลายอีกด้วย
น้ำมันมะพร้าว เหมาะสำหรับ : ผัด ทอด หรือทำขนม
7 น้ำมันคาโนลา (Canola Oil)
ส่วนน้ำมันคาโนลา สีใส เป็นน้ำมันปรุงอาหารที่นิยมนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นน้ำมันที่มีราคาค่อนข้างแพง อุดมด้วยไขมันอิ่มตัวน้อยเมื่อเทียบกับน้ำมันพืชชนิดอื่น ๆ พร้อมกับโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 มีกรดโอเลอิกสูงช่วยลดอัตราการเกิดเส้นเลือดหัวใจอุดตัน หากบริโภคแต่พอเหมาะจะเป็นน้ำมันที่ช่วยชะลอไม่ให้แก่ก่อนวัยอันควร และป้องกันความดันโลหิค โรคไต และมะเร็ง
น้ำมันคาโนลา เหมาะสำหรับ : ทอด ผัด ทำน้ำสลัดได้ทั้งหมดตามสะดวก
8 น้ำมันดอกทานตะวัน (Sunflower Oil)
จัดอยู่ในจำพวกเดียวกับน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด เนื่องจากน้ำมันดอกทานตะวันนี้ไม่ทนกับอุณหภูมิสูง ๆ แนะนำให้ใช้ผัดในความร้อนปานกลาง ใช้เป็นส่วนผสมตีซอสสลัด ในน้ำมันมีกรดไลโนเลอิกสูง มีสรรพคุณลดระดับคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอร์ไรด์ในเส้นเลือดได้
น้ำมันดอกทานตะวัน เหมาะสำหรับ : ผัดไฟอ่อน ทำน้ำมันสลัด ฯลฯ
9 น้ำมันงา (Sesame Oil)
น้ำมันพืชปรุงอาหารช่วยชะลอไม่ให้หย่อนยานหรือแก่ก่อนวันอันควร คงต้องยกให้น้ำมันงา มีกลิ่นคล้าย ๆ กับถั่ว ด้วยสรรพคุณสารเซซามอลช่วยดูแลร่างกาย ลดความดันโลหิตช่วยให้เส้นเลือดไม่ตีบตัน และป้องกันการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้เป็นอย่างดี ส่วนใหญ่นิยมนำน้ำมันงาผัดปรุงรสอาหารจีน และใช้หมักเนื้อหมูกะทะก็อร่อย
น้ำมันงาเหมาะสำหรับ : ปรุงอาหารผัด และใช้หมักเนื้อ หมู ไก่ หรือทำน้ำสลัด
10 น้ำมันรำข้าว (Rice Bran Oil)
มาถึงน้ำมันพืชปรุงอาหารอันดับสุดท้ายอย่าง น้ำมันรำข้าวที่ราคาไม่แพง มีสรรพคุณใกล้เคียงกับน้ำมันมะกอก อุดมด้วยสารที่ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนในสตรีวัยทอง และมีสารต้านอนุมูลอิสระ สามารถทอดได้แต่ไม่ควรทอดนานเกินหรือใช้ความร้อนสูง เพราะจะทำให้เป็นผลเสียมากกว่าผลดี
น้ำมันรำข้าว เหมาะสำหรับ : ปรุงอาหารผัดทอดทั่วไปในระยะเวลาไม่นาน
เพื่อความเข้าใจ ขอสรุปการใช้งานน้ำมันพืชปรุงอาหารง่ายๆ
- ปรุงอาหารทั่วไปใช้ผัด ทอดไฟอ่อน แนะนำ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนล่า น้ำมันงา น้ำมันข้าวโพด น้ำมันมะพร้าว
- ทอดในอุณหภูมิสูงแบบน้ำมันท่วมอาหาร แนะนำใช้น้ำมันปาล์ม
- ไม่แนะนำให้นำน้ำมันถั่วเหลืองมาใช้ทอดอาหารทุกชนิด
ทำรู้จักประเภทน้ำมันพืชเพื่อจะได้ซื้ออย่างถูกวิธีกันแล้ว ส่วนวิธีการเลือกน้ำมันที่ดีนั้น เราควรจะเลือกน้ำมันปรุงอาหารที่ปราศจากตะกอน สีเหลืองธรรมชาติ และไม่มีกลิ่นเหม็นหืน ที่สำคัญอย่าลืมเลือกใช้น้ำมันให้เหมาะกับการปรุงอาหาร รับประทานแต่พอดี อย่าใช้น้ำมันทอดซ้ำ หรือน้ำมันปรุงอาหารที่เสื่อมคุณภาพ เพราะจะส่งผลเสียต่อร่างกายและเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้นั้นเอง
ประเภทเกลือและชนิดของเกลือที่นิยมใช้ปรุงอาหาร
เกลือเป็นเหนึ่งในครื่องปรุงที่เก่าแก่ หาง่ายที่สุด และมีการใช้แพร่หลายที่สุด มีการค้นพบว่ามนุษย์เริ่มผลิตเกลือปรุงอาหารครั้งแรกเมื่อ 6,000 ปีที่แล้ว ชนิดของเกลือมีหลากหลายประเภท มักมีคนสงสัยว่าเกลือมีกี่ชนิด เกลือมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า โซเดียมคลอไรด์ (NaCl) โดยการระเหยน้ำทะเล แม้จะมีความเค็มและจะใช้ปรุงอาหาร ใช้ดองอาหาร ใช้โรยอาหาร พร้อมกับถนอมอาหารได้ตามความต้องการ แต่เกลือแต่ละชนิดนั้นมีรสชาติและความเค็มไม่เหมือนกันเนื่องจากเกลือแต่ละประเภทแต่ละชนิดมีองค์ประกอบเคมีที่แตกต่างกันรวมทั้งถิ่นกำเนิดที่แตกต่างกัน โดยการบริโภคเกลือนั้น ไม่ควรบริโภคให้ปริมาณโซเดียมรวมทั้งวันเกินวันละ 2400 มิลลิกรัม (อ้างอิงคามมาตรฐาน THAI RDI) ซึ่งพบว่าประชากรส่วนใหญ่บริโภคเกินซึ่งจะทำให้เกิดโรคความดันสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตตามมา ประเภทเกลือที่เป็นที่นิยมสามารถแบ่งได้หลายประเภท ดังนี้
1 เกลือบริโภค (Table Salt)
เกลือบริโภค เป็นประเภทเกลือที่มีการบริโภคมากที่สุด เป็นเกลือโซเดียมคลอไรด์ เม็ดร่วนแห้ง สีขาวสะอาด มีคุณค่าทางโภชนาการ มีรสชาติเค็ม นิยมใช้ปรุงอาหาร มีโซเดียมค่อนข้างสูง ใช้เป็นส่วนผสมในการปรุง หมักดอง อบอาหาร ฯลฯ อย่างไรก็ดี จะต้องเก็บในที่ร่มและแห้ง ไม่ให้ชื้นเพื่อคงคุณภาพของเกลือเอาไว้ อาจมีการเติมไอโอดีนเข้าไปด้วย รับประทานแต่พอดีช่วยป้องกันโรคคอหอยพอกได้ มีความเค็มใกล้เคียงเกลือทะเล
2 เกลือทะเล หรือ เกลือสมุทร (Sea Salt)
เป็นผลผลิตที่ได้จากน้ำทะเล มีความเค็มสูงมาก บางแห่งเกลือจะมีความเค็มอมหวาน หรือเค็มที่มาพร้อมกับความขมนิดหน่อย (ระดับรสชาติก็จะขึ้นอยู่กับน้ำทะเลตามแหล่งผลิต เนื่องจากมีแร่ธาตุต่างกัน) อุดมด้วยแร่ธาตุที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะไอโอดีน สำหรับเกลือทะเล หรือเกลือสมุทรเราจะพบได้ทั่วไป เพราะเป็นเกลือปรุงอาหารที่ได้รับความนิยมสูงสุด เนื่องจากหาง่าย ราคาไม่สูง มีทั้งเกลือแบบเกล็ด ผิวสัมผัสค่อนข้างหยาบ และยังมีแบบป่นละเอียดให้ใช้งานตามความต้องการ เช่น ต้ม ทอด และสามารถใช้ปรุงอาหารอื่น ๆ ส่วนใหญ่พบได้ทุกครัวเรือน
3 เกลือโครเชอร์ (Kosher Salt)
สำหรับเกลือโครเชอร์รสชาติใกล้เคียงกับเกลือทั่ว ๆ ไป เพียงแต่มีเกล็ดใหญ่กว่า หยาบกว่า มีสีขาวขุ่น จะต้องประมาณให้ดีในการปรุงรส สามารถใช้ปรุงอาหารได้ แต่ละลายยากกว่า Table Salt นิยมใช้ปาดขอบแก้วเครื่องดื่มมาการิต้า ใช้หมักถนอมอาหาร ใช้เป็นน้ำเกลือบรรจุกระป๋อง และดองอาหารจะได้รสชาติดียิ่งขึ้น เป็นที่นิยมในอาหารฝรั่ง เช่น เกลือปรุงเสต็ก ไก่ และปลา
4 เกลือหิน (Rock Salt)
เป็นเกลือปรุงอาหารที่มีลักษณะหลากหลาย มีทั้งสีขาว สีขาวเหลือง และมีเกลือเม็ดสีเทาด้วย ซึ่งสีของเกลือหิน หรือเกลือเม็ดปรุงอาหารจะขึ้นอยู่กับแร่ธาตุ และขึ้นอยู่กับสิ่งที่เจือปนอยู่ ส่วนประกอบของเกลืออุดมด้วยแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม เหล็ก สังกะสี โพแทสเซียม แมกนีเซียม ทองแดง ฯลฯ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยนิยมใช้เกลือเม็ดนำมาใช้ปรุงอาหารเท่าเกลือชนิดอื่น จะใช้รักษาอุณหภูมิน้ำแข็ง เพื่อทำไอศกรีมถัง ใช้หมักดองผลไม้มากกว่า ซึ่งเกลือหินพบมากในภาคอีสาน เช่น แอ่งสกลนคร จังหวัดอุดรธานี หนองคาย สกลนคร และนครพนม ตามด้วยแอ่งโคราช จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ และบุรีรัมย์
5 เกลือหยาบ หรือ เกลือเกล็ด (Flake Salt)
เกลือปรุงอาหารชนิดนี้มีรูปลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร เพราะมีลักษณะเป็นพีระมิดสามเหลี่ยม คล้ายคริสตัล มีสีขาวใส ละลายได้อย่างรวดเร็วกว่าเกลือชนิดอื่น ส่วนใหญ่ใช้นึ่งอาหาร ผัก อาหารทะเล เพื่อชูรสชาติให้กับมื้ออร่อย
6 เกลือเฟลอร์ เดอ เซล หรือ ดอกเกลือ (Fluer De Sel)
มาถึงเกลือเฟลอร์ เดอ เซล หรือที่คุ้นหูกันดีในชื่อ ดอกเกลือ ขึ้นชื่อว่าเป็นสุดยอดของเกลือ เป็นหนึ่งในเกลือที่มีราคาสูง และในการทำนาเกลือแต่ครั้งจะได้ Fluer De Sel ในปริมาณน้อย ดอกเกลือนั้น โดดเด่นด้วยรสชาติกลมกล่อมกว่าเกลือประเภทอื่น ๆ มีทั้งรสเค็มอมหวาน ใช้ปรุงอาหารได้อย่างลงตัว ชาวต่างชาตินิยมใช้เพิ่มรสชาติไข่ปลา เนื้อสัตว์ และคาราเมล อย่างไรก็ดี ดอกเกลือยังมีประโยชน์ด้านการดูแลผิวกายช่วยขัดผิว เช่น ทำสครับผิว สบู่ก้อน และเกลือสปาขัดผิวขาวเพิ่มออร่า ฯลฯ
7 เกลือหิมาลายัน หรือ เกลือหิมาลัยสีชมพู (Himalayan Pink Salt)
สำหรับเกลือหิมาลายัน หรือเกลือหิมาลัยสีชมพู ถูกพบครั้งแรกที่ปากีสถาน และพบมากบนเทือกเขาหิมาลัย เกลือหิมาลัยนั้น มีโดดเด่นเห็นชัดด้วยสีชมพู เก็บเกี่ยวจากการทำเหมือนซึ่งจะได้เกลือเป็นก้อนใหญ่ๆก่อนนำมาบดเพื่อใช้งาน เกลือหิมาลัยนั้นปกติจะมีโซเดียมที่น้อยกว่าเกลือทะเล แต่มีแร่ธาตุอื่นๆมากกว่า มีประโยชน์ต่อร่างกาย นอกจากใช้ปรุงอาหารให้รสชาติกลมกล่อม การใช้งานคล้ายกับเกลือแกง มีข้อมูลพบว่าเกลือหิมาลายันยังมีสรรพคุณช่วยปรับสมดุลน้ำตาลในเลือดเหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ที่ต้องการคุมโซเดียม สามารถลดความเมื่อยล้า ลดปัญหาสิว ผดผื่น ช่วยดูแลสุขภาพช่องปาก สามารถกล่าวได้ว่าเกลือสีชมพูนี้ดีจริงด้วยสรรพคุณมากมาย
8 เกลือฮาวายสีดำ (Black Hawaiian Salt)
ความเค็มที่มาพร้อมกับสีดำ บางคนเรียกว่า เกลือลาวา หรือเกลือฮาวายสีดำ เป็นเกลือที่เกิดจากการระเหยน้ำทะเล ผสมกับผงถ่านกะลามะพร้าว แต่ยังคงความเป็นธรรมชาติเอาไว้เต็มเปี่ยม ส่วนใหญ่ใช้โรยบนอาหารเพื่อตกแต่งเพิ่มสีสัน พร้อมกับรสชาติกลมกล่อม เกลือฮาวายนั้นมีโซเดียมเพียงแค่ 84% และมีแร่ธาตุอื่นเจือปนอยู่มากทำให้มีประโยชน์แก่ร่างกาย
9 เกลือฮาวายสีแดง หรือ อัลลาแอ (Red Hawaiian Salt)
สวยงามราวกับอัญมณี เพียงแต่เป็นเกลือสีแดง หรือเกลืออัลลาแอ ซึ่งจัดอยู่ในประเภทเดียวกับเกลือฮาวายสีดำ เป็นเกลือทะเลเหมือนกัน ต่างเพียงสีสัน มีแหล่งกำเนิดจากรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเกลือผสมกับดินภูเขาไฟ ไม่ผ่านการขัดสี จึงคงสีแดงอิฐ เป็นวัตถุดิบหลักใช้ปรุงอาหารทะเลพื้นเมืองของชาวฮาวาย
10 เกลือสีเทา (Sel Gris)
เป็นเกลือสีเทาที่ได้รับความนิยมมากในฝรั่งเศษ Sel Gris นั้นเป็นเกลือที่มาจากการระเหยน้ำทะเลแต่ติดกับพื้นดินและมีการกวาดและเกิดการสัมผัสกับดินในแปลงนาเกลือก่อนเก็บทำให้มีสีเทา Sel Gris นั้นเป็นเกลือในลักษณะเดียวกับดอกเกลือแต่มีความหยาบมากกว่าและมีความชื้นสูง
11 เกลือรมควัน (Smoked Salt)
แตกต่างจากเกลือชนิดอื่นด้วยกลิ่น เกลือรมควันที่แตกต่างกันตามกลิ่นไม้ที่ใช้ เช่น ไม้โอ็ค ไม้แอปเปิ้ล จึงเป็นเกลือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แนะนำปรุงกับผักและเนื้อเพื่อชูรสชาติ และกลิ่นให้หอมยิ่งขึ้น
เบอร์รี่ 9 ชนิด ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่เพื่อสุขภาพยอดนิยม มีอะไรบ้าง
ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่เป็นผลไม้ที่ขึ้นชื่อเรื่องสุขภาพ มีสีสันสวยงาม ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่มักมีรสเปรี้ยวและรสหวาน มีกลิ่นหอม ชนิดเบอร์รี่มีหลายประเภท มีทั้งเบอร์รี่ผลไซส์เล็ก กลมมน เบอร์รี่นั้นเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอวัย บำรุงสายตา ช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง รับประทานแล้วไม่อ้วน ช่วยป้องกันไข้หวัด มะเร็งและโรคต่างๆอีกมากมาย หลายคนคงสงสัยว่า เบอร์รี่มีกี่ชนิด ชนิดเบอร์รี่มีอะไรบ้าง ประเภทเบอร์รี่รสชาติเป็นอย่างไร ประโยชน์ของเบอร์รี่ 9 ชนิด มีอะไรบ้าง วันนี้ ช้อนกลาง บริการอาหารกล่อง ข้าวกล่อง เดลิเวอรี่มืออาชีพขอพาทุกท่านไปพบกับเรื่องน่ารู้ของชนิดเบอร์รี่ยอดนิยมว่ามีอะไรบ้าง
1. บลูเบอร์รี่ (Blueberry)
บลูเบอร์รี่ (Blueberry) เป็นผลไม้ตระกูลเบอร์รี่เพื่อสุขภาพ เป็นไม้ยืนต้น อยู่ในตระกูล Vaccinium ซึ่งสายพันธุ์ที่เป็นที่นิยมมีชื่อทางวิทยาศาตร์ว่า Vaccinium corymbosum ลักษณะต้นเป็นพุ่ม มีความสูงได้ตั้งแต่ 15 เซนติเมตรไปถึง 4 เมตร มีผลสีม่วง ผลเล็ก กลม แป้น มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน รับประทานง่าย มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ มีประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิตและส่งออกมากที่สุด บลูเบอรรี่อุดมด้วยวิตามินหลายชนิด มีประโยชน์ ช่วยลดการเสื่อมของร่างกาย ช่วยเรื่องความจำ และหากรับประทานเป็นประจำจะช่วยลดอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้เป็นอย่างดี ส่วนใหญ่มักจะพบเห็นบลูเบอร์รี่ในเมนูขนมเป็นส่วนมาก เช่น บลูเบอร์รี่ชีสพาย บลูเบอร์รี่ชีสเค้ก แยมบลูเบอร์รี่ รวมทั้งทานกับโยเกิรต์หรือซีเรียลเป็นอาหารเช้าได้อย่างดี
2. ราสเบอร์รี่ (Raspberry)
ราสเบอร์รี่ (Raspberry) เป็นผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ จัดอยู่ในพืชตระกูล Rubus มีหลายสายพันธุ์ย่อยซึ่งมีทั้งสีแดง ม่วง ม่วงเข้ม สายพันธุ์ที่นิยมแพร่หลายมีชื่อทางวิทยาศาตร์ว่า Rubus idaeus ที่สีแดงอมชมพูเข้ม มีรสค่อนไปทางรสเปรี้ยว อุดมด้วยกรดเอลลาจิก (Ellagic) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีประโยชน์ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย แถมยังช่วยป้องกันมะเร็งได้เป็นอย่างดี โดยมีหลายเมนูที่สามารถใช้ราสเบอร์รี่เป็นส่วนประกอบ เช่น ไอศกรีมราสเบอร์รี่ คัพเค้กราสเบอร์รี่ คุ้กกี้ราสเบอร์รี่ แยมราสเบอร์รี่ และใช้มิกซ์กับสลัดผักก็อร่อยให้รสชาติดี รวมทั้งทานคู่กับโยเกิรต์ได้ดีเช่นกัน
3. แบล็คเคอร์แรนท์ (Blackcurrant)
แบล็คเคอร์แรนท์มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ribes nigrum มีต้นกำเนิดจากทวีปยุโรปกลางและยุโรปเหนือ ถูกขนานนามให้เป็นที่สุดของตระกูลเบอร์รี่ ผลเล็ก ๆ กลม ๆ ผิวเรียบเกลี้ยง ปลายของแบล็คเคอร์แรนท์นั้นมีจุกของก้านติดอยู่นิดหน่อย เนื้อชุ่มฉ่ำน้ำ เปรี้ยวอมหวาน มีกลิ่นหอม และเมล็ดทรงรี ซึ่งแบล็คเคอร์แรนท์นี้มีสรรพคุณที่ดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ป้องกันอัลไซเมอร์ ป้องกันโรคมะเร็ง ป้องกันโรคหัวใจ ช่วยบำรุงเลือด และบำรุงประสาท ฯลฯ นิยมใช้ทำอาหาร เครื่องดื่ม สามารถรับประทานได้ทันที ยิ่งแช่เย็นยิ่งอร่อย บางครั้งแช่ฟรีซแล้วรับประทานก็มี
4. แบล็กเบอร์รี่ (Blackberry)
แบล็กเบอร์รี่ หรือ แบลคเบอร์รี่ (Blackberry) เป็นพืชในตระกูล Rubus ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ มีผลสีดำมีเมล็ดเป็นกลุ่ม ประเทศเมกซิโกเป็นผู้ปลูกแบลคเบอร์รี่รายใหญ่ซึ่งได้รับความนิยมมากในประเทศแถบอเมริกาและยุโรป แบล็กเบอร์รี่มีรสเปรี้ยวอมหวาน ฉ่ำน้ำ มีเส้นใยอาหาร วิตามินซี วิตามินเค วิตามินบี และเกลือแร่ นิยมคั้นน้ำ ปั่นสมูทตี้เพื่อสุขภาพ รับประทานสด เพื่อคลายร้อน ใส่เครป ทำเป็นไอศกรีม หรือทำแยมทาขนมปังก็อร่อย รับประทานเป็นประจำช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ และโรคหัวใจ ช่วยฟื้นฟูคอลลาเจนของร่างกายได้เป็นอย่างดี มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
5. แครนเบอร์รี่ (Cranberry)
แครนเบอร์รี่ (Cranberry) เป็นผลไม้รสเปรี้ยวสีแดงสด เป็นพืชในตระกูล Oxycoccus ซึ่งในประเทศอังกฤษจะนิยมสายพันธุ์ Vaccinium oxycoccos ส่วนในสหรัฐอเมริการจะนิยมสายพันธุ์ Vaccinium macrocarpon นิยมใช้เป็นยาสมุนไพร และรับประทานป้องกันโรคหัวใจ ไข้หวัด ช่วยป้องกันโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบและโรคไตได้เป็นอย่างดี อุดมด้วยวิตามินซี มีประโยชน์ ดีต่อสุขภาพ รับประทานสด ๆ และคั้นน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพได้เช่นกัน นิยมอบแห้งเพื่อรับประทานด้วยเช่นกัน
6. กูสเบอร์รี่ (Gooseberry)
กูสเบอร์รี่สีเหลืองทอง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ribes uva-crispa มีชื่อไทยว่า โทงเทงฝรั่ง เนื้อนุ่มฉ่ำน้ำผลไม้ ลักษณะกลมเกลี้ยง หวานอมเปรี้ยวเหมือนรับประทานมะเขือเทศพร้อมกับสับปะรด มีกลีบเลี้ยงห่อหุ้มไว้ ผลไม้จิ๋วแต่แจ๋วอุดมด้วยวิตามินซี มีประโยชน์มากๆ ป้องกันไข้หวัด ช่วยดูแลสายตา สามารถปรุงเป็นของหวาน แยม ซอส พาย พุดดิ้ง สลัดผลไม้ รับประทานกับน้ำผึ้งก็ดีเยี่ยม เลือกได้ตามความชอบเป็นหลัก
7. มัลเบอร์รี่ (Mulberry)
จัดเป็นผลไม้ของคนรักสุขภาพโดยแท้ ต้องยกให้มัลเบอร์รี่ (Mulberry) หรือคนไทย เรียกว่า ลูกหม่อน จัดอยู่ในพืชตระกูล Moraceae มีทั้งสีม่วงเข้มจะมีรสหวาน สีแดงอมม่วงรสชาติหวานเปรี้ยว นิยมคั้นน้ำ ทำเป็นแยม และรับประทานสด ๆ เช่นเดียวกับเบอร์รี่อื่น ๆ มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยให้ความจำดีขึ้น ดีต่อสุขภาพ แถมยังต้านมะเร็งอีกด้วย ใบของมัลเบอร์รี่สามารถปรับนำมาตากแห้งชงเป็นชาร้อนได้เช่นกัน ให้กลิ่นหอมอ่อน ๆ รสชาติดี
8. องุ่น (Grape)
องุ่น (Grape) จัดเป็นหนึ่งในประเภทผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ที่จัดอยู่ในกลุ่ม True Berry ที่เกิดมาจากรังไข่เดียวกัน ใบเลี้ยงเดี่ยว ทางพฤกษศาสตร์จึงจัดว่าองุ่นเป็นเบอร์รี่ สายพันธุ์ที่นิยมมากที่สุดอยู่ในตระกูล Vitis vinifera มีบันทึกว่ามีการเก็บเกี่ยวองุ่นเพื่อบริโภคตั้งแต่ช่วง 6,000 - 8,000 ปีก่อน สำหรับสรรพคุณและประโยชน์ขององุ่นนั้นมีหลากหลาย เช่น ช่วยต้านมะเร็ง ช่วยลดความดันโลหิตสูง ลดไขมันในเลือด ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงสมอง บำรุงกำลัง แก้อาการกระหายน้ำ อีกทั้งยังช่วยให้ร่างกายแข็งแรงได้เนื่องจากน้ำตาลในองุ่นสามารถดูดซึมได้อย่างรวดเร็วทำให้รู้สึกสดชื่นและยังช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายได้อีกด้วย
9. สตรอเบอร์รี่ (Strawberry)
มาถึงคิวสตรอเบอร์รี่ (Strawberry) ผลไม้เพื่อสุขภาพที่เรารู้จักกันดี เป็นเบอร์รี่ยอดนิยมของคนไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Fragaria × ananassa จริงๆแล้ว สตรอเบอร์รี่นั้นเป็นพืชสังกัดสกุลไม้ดอกในวงศ์กุหลาบ ไม่ถูกจัดว่าเป็นกลุ่มเบอร์รี่ในทางพฤกษศาสตร์ (เป็นแค่ชื่อเท่านั้น) อย่างไรก็ดี เรามักจะคุ้นชินกับสตรอเบอร์รี่เป็นอย่างดี ถูกขนานนามว่าเป็นราชาของผลไม้สีแดง และเป็นผลไม้โปรดของใครหลายคน หารับประทานง่าย เป็นผลไม้เมืองหนาวมาพร้อมกับความอร่อยและคุณค่าทางโภชนาการ มีหลากหลายสายพันธุ์ มากด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ กากใยสูง ช่วยทำให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรง ลดความดันโลหิต สามารถทานสด ทำน้ำสตรอเบอร์รี่ปั่น หรือฝานบาง ๆ ใส่น้ำแร่เป็นน้ำอินฟิวส์ (Infused Water) และเมนูของหวานแสนอร่อยหลากหลาย รวมทั้งทำเป็นแยมสตรอเบอร์รี่
จากที่เล่ามาข้างต้น มีผลไม้ตระกูลเบอรี่ชนิดไหนบ้างที่คุณชื่นชอบ คงจะต้องบอกว่า เบอรี่นั้นรับประทานอร่อยและดีต่อสุขภาพจริงเชียว
พริกไทย รู้จักกับพริกไทยชนิดต่างๆ
พริกไทย (Pepper) เป็นหนึ่งในเครื่องเทศที่มีการใช้ปรุงอาหารมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก พริกไทยนั้นเป็นสมุนไพรเครื่องปรุงกลิ่นรสอาหารที่มีกลิ่นหอมฉุน รสชาติเผ็ดร้อน สามารถใช้เป็นสารกันเสียได้เนื่องจากมีฤทธิ์ต่อต้านจุลินทรีย์ พริกไทยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Piper Nigrum มีแหล่งกำเนิดจากภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย ในสมัยก่อนนั้นเป็นสินค้าที่มีค่าสูงมากราวกับทองคำ มีแต่ชนชั้นสูงเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้ ปัจจุบันเป็นพืชเศรษฐกิจในประเทศอากาศร้อน เช่น เวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย และบราซิล
ลำต้นพริกไทยเป็นลักษณะเถาวัลย์เลื้อย เป็นไม้ยืนต้นพร้อม มีรากเล็ก ๆ ชอนไชตามลำต้นช่วยในการยึดเกาะขึ้นด้านบน และมีรากหาอาหารเลี้ยงลำต้นในพื้นดินเหมือนต้นไม้ทั่วไป ส่วนใบคล้ายใบพลูปลายแหลม ขอบใบเรียบมัน มีดอกเป็นช่อนิยมปลูกในโรงเรือน หรือทำพื้นที่ยึดเกาะเอาไว้ พริกไทยเป็นพืชที่ปลูกง่าย ชอบดินที่ระบายน้ำ และชอบอากาศอุ่นชื้นเป็นหลักจะทำให้เจริญเติบโตได้ดี และนำส่วนผลที่เรียงตัวแน่นบนแกนมาตากแห้งเพื่อใช้เป็นเครื่องเทศปรุงรสนั้นเอง
ในส่วนลักษณะของพริกไทยบนต้นสามารถแบ่งเป็น 2 สี ได้แก่ ผลสีเขียว และ ผลสีแดง
เมล็ดพริกไทยผลดิบสีเขียว คือ ผลอ่อน ผิวเขียวเข้ม เปลือกเมล็ดอ่อน ส่วนใหญ่ใช้ผัดเผ็ดกุ้ง ผัดเผ็ดหมูสับ หรือจะใช้เป็นส่วนประกอบในการคั่วพริกเกลือและพริกไทยอ่อน รวมทั้งเมนูผัดขี้เมาที่จำต้องใช้พริกไทยอ่อน และในอาหารไทยหลายเมนูนิยมใช้ เพราะดับกลิ่นคาวได้ดียิ่งนัก
เมล็ดพริกไทยผลสุกสีแดง คือ ผลสุกที่เปลี่ยนจากสีเขียวมาเป็นสีแดงคาต้น นิยมใช้พริกไทยสีแดงผ่านกระบวนการอื่น ๆ และตากแห้ง
อย่างไรก็ดี พริกไทยราชาแห่งเครื่องเทศนั้นยังมีหลายสายพันธุ์ เช่น พันธุ์ศรีลังกา พันธุ์ซาราวัค พันธุ์บราซิล พันธุ์อินเดีย และพันธุ์จากมาเลเซีย ฯลฯ
ประเภทพริกไทย
สามารถแบ่งประเภทพริกไทยแบบคร่าว ๆ จากการเก็บผลผลิตและการนำแปรรูป ดังนี้
1 พริกไทยอ่อน
สำหรับพริกไทยอ่อนบางครั้งเรียกว่า พริกไทยสด หรือ พริกไทยดิบ เพราะมีเปลือกเมล็ดสีเขียว ผลยังไม่สุก เคี้ยวรับประทานได้ทันที และใช้ประกอบอาหาร เพิ่มกลิ่นหอมฉุน เผ็ดพร้อมกับ ช่วยดับกลิ่นไม่พึงประสงค์จากเนื้อ หรือกลิ่นคาวอื่น ๆ นิยมขายเป็นช่อผลรวมกันดูสวยงาม ใช้ตกแต่งจานอาหารก็สวยอีกแบบ
2 พริกไทยดำ
ในส่วนพริกไทยดำเป็นผลแห้ง เปลือกดำสมชื่อ แปรรูปจากผลที่ยังไม่สุกสีเขียวเข้ม เปลือกเมล็ดแข็งมาตากแดด มีทั้งแบบเมล็ด และแบบป่น ซึ่งพริกไทยดำมีกลิ่นหอมกว่าพริกไทยสด ช่วยเพิ่มกลิ่นและรสของอาหารได้ดีเยี่ยม เพราะมีรสเผ็ดฉุนกว่า นิยมใช้หมักเสต็กเนื้อ เสต็กหมูชั้นดี
3 พริกไทยขาว หรือ พริกไทยล่อน
เป็นผลผลิตจากผลพริกไทยสุกคาต้นสีแดง แช่น้ำและแยกเปลือกออก เหลือเพียงเมล็ดสีขาว หลังจากนั้นก็ผ่านกระบวนการอบ หรือตากแห้งก่อนใช้ปรุงอาหาร ผัด นึ่ง แกง กลิ่นหอมอ่อนและมีรสเผ็ดใกล้เคียงกับพริกไทยดำ แตกต่างที่รูปลักษณ์ แต่ละมุนกว่า ส่วนใหญ่ใช้ปรุงอาหารจีน อาหารไทยที่ไม่ต้องการแต่งสีเพิ่มเติม
พริกไทยดำและพริกไทยขาวแตกต่างกันอย่างไร?
จริงๆแล้วพริกไทยทั้งสองชนิดนั้นมาจากต้นพริกไทยต้นเดียวกัน ต่างเพียงกรรมวิธีการผลิต สรุปง่าย ๆ ดังนี้
● พริกไทยดำ ทำจากผลสดสีเขียว ที่ยังไม่สุกคาต้น นำมาตากให้แห้ง 3-4 วันให้ช่อผลเหี่ยว และนวดต่อให้ผลร่วงด้วยตะแกรง กระด้ง พร้อมกับนำตากแดดอีก 5-6 วันให้แห้งดี
● พริกไทยขาว ทำจากผลที่สุกคาต้นสีแดง นำมาแช่น้ำและนวดหรือทุบเอาเพื่อเอาเปลือกสีแดงออก จะได้เมล็ดด้านในสีขาวนวล ตามด้วยตากแดดทันที ประมาณ 4-5 วัน เพื่อให้แห้งสนิท และมีความชื้นต่ำไม่เป็นเชื้อรา บางคนอาจเรียกว่าพริกไทยขาวว่า ”พริกไทยล่อน” เนื่องจากการล่อนเอาเปลือกออก
ปกติพริกไทยดำจะมีความเผ็ดและกลิ่นฉุนกว่ารวมทั้งมีคุณประโยชน์มากกว่าพริกไทยขาว
พริกไทยสีแดง
จริงๆแล้วพริกไทยสีแดงกึ่งชมพูบนโต๊ะอาหารนั้นเป็นพืชคนละชนิดกับพริกไทยดำหรือพริกไทยขาว พริกไทยแดงหรือที่เรียกว่า Pink Peppercorn เป็นผลของต้น Peruvian Pepper ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Schinus mole ซึ่งเป็นไม้ยืนต้น ออกผลเป็นพวง เนื่องจากผลมีลักษณะกลิ่นหอมฉุนจึงมีการนำมาใช้เป็นเครื่องเทศ อาจใช้ผสมพริกไทยเมล็ดเป็น 3 สี
ประโยชน์และสรรพคุณของพริกไทย
พริกไทยช่วยเพิ่มรสชาติ หอม เผ็ด กลมกล่อม ของอาหาร ช่วยต้านเชื้อจุลินทรีย์ ป้องกันไม่ให้อาหารเน่าเสียได้ รวมทั้งมีสรรพคุณทางยา ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด ช่วยลดไข้ ฯลฯ การรับประทานพริกไทยควรทานแต่พอดี ไม่ควรรับประทานพริกไทยติดต่อกันจำนวนมาก อาจทำให้ปวดแสบท้องได้เพราะสามารถทำให้ลำไส้และกระเพาะอาหารระคายเคือง
แซลมอน อีกหนึ่งปลายอดฮิตของคนทั่วโลก
รู้จักกับปลาแซลมอน
แซลมอนเป็นปลาที่จัดอยู่ในอันดับ Salmoniformes และอยู่ในวงศ์ Salmonidae มีด้วยกันหลายสายพันธุ์ มีเนื้อสีส้มลวดลายสวยงาม โดยแซลมอนนั้นหลักๆจะมี 2 ประเภทคือ Atlantic Salmon และ Pacific Salmon สามารถรับประทานแบบสดๆแบบซาชิมิ หรือจะนำไปปรุงเมนูต่างๆ ทั้งนึ่ง ต้ม หรือย่าง รสชาติก็อร่อยไม่แพ้เนื้อปลาชนิดอื่นๆ เนื้อแซลมอนจะมีความแน่นแต่เมื่อกัดแล้วมีความนุ่มนวล มีประโยชน์มากเนื่องจากอุดมด้วย Omega 3 และไขมันดี
ประเภทของปลาแซลมอน
ประเภทของปลาแซลมอนนั้นจะแบ่งตามบริเวณที่อยู่อาศัยเป็นหลัก ปลาแซลมอนนั้นมีแหล่งที่อยู่ทางซีกโลกเหนือ แถบอเมริกาเหนือ อลาสก้า ยุโรปเหนือ และเอเชียเหนือ ซึ่งในมหาสมุทรแอตแลนติกนั้นจะมีเพียงแค่สายพันธุ์ Atlantic Salmon สายพันธุ์เดียวเท่านั้น ส่วนมหาสมุทรแปซิฟิคจะมีหลายสายพันธุ์ เช่น Sockeye Salmon, Chinook Salmon, Chum Salmon และ Pink Salmon เป็นต้น โดยทั่วไป Atlantic Salmon จะมีขนาดใหญ่กว่า ตัวโตเต็มที่จะมีความยาวประมาณ 120 ซม. และยาวได้ถึง 150 ซม. ซึ่ง Pacific Salmon จะมีขนาดมาตรฐานอยู่ที่ 50-70 ซม. ทั้งนี้สามารถพบได้ใน ออสเตรเลีย ดานูบ และฮาวายอีกด้วย
ปลาแซลมอน มีอายุโดยเฉลี่ยประมาณ 3-8 ปี แซลมอนสายพันธุ์แอตแลนติคจะมีอายุยืนยาวกว่าสายพันธุ์แปซิฟิค ตัวโตเต็มวัยจะอาศัยในน้ำเค็มและเริ่มต้นชีวิตจากน้ำจืด เพราะจะมีการผสมพันธุ์และวางไข่ในต้นแม่น้ำ แล้วมาเติบโตอย่างเต็มที่ในมหาสมุทรแล้วเมื่อโตเต็มวัยพร้อมที่จะผสมพันธุ์อีกครั้งก็จะวนกลับมาสู่บ้านเกิดที่เป็นแม่น้ำอีกครั้ง แต่โดยหลักการแล้วปลาแซลมอนถือว่าเป็นปลาทะเล วันนี้เราจะพาทุกท่านไปพบกับเรื่องราวที่น่าสนใจของแซลมอนและชีวิตของแซลมอนกัน
ปลาแซลมอนกลับสู่บ้านเกิดด้วยกลิ่น
มีผลงานการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับปลาแซลมอน เรื่องการกลับไปวางไข่ที่บ้านเกิดได้อย่างถูกที่ทุกรุ่น สาเหตุเพราะ “กลิ่น” ที่ถือว่าเป็นกลิ่นเฉพาะของแม่น้ำที่กำเนิด ซึ่งกลิ่นและภาพจำแม่น้ำนี้จะฝังอยู่ในความทรงจำของแซลมอนทุกตัว เพียงแค่ออกจากไข่ แซลมอนน้อยทั้งหลายก็จะจดจำสถานที่เกิดและกลิ่นของน้ำได้อย่างแม่นยำทันที
วางแผนให้การกำเนิดโดยตัวเมีย
เมื่อถึงฤดูวางไข่ ปลาแซลมอนตัวเมียจะมาถึงแม่น้ำก่อนตัวผู้ เพื่อจัดการหาสถานที่ที่เหมาะสม ปลาแซลมอนตัวเมียนั้นจะเลือก บริเวณที่น้ำจืดมีที่มีออกซิเจนสูง อุณหภูมิพอเหมาะเท่านั้น จากนั้นก็จัดแจงวิธีการผสมพันธุ์ด้วยการขุดรังด้วยปลายหางให้เป็นแอ่งแล้ววางไข่ลงไปในแอ่งนั้น เมื่อตัวผู้มาถึงก็สามารถเลือกที่จะปล่อยเชื้อของตัวเองลงไข่ที่ถูกเตรียมไว้ได้ทันที พอผสมพันธุ์จนเป็นตัวแล้วไข่นั้นก็จะเติบโตอย่างปลอดภัย เพราะแม่พันธุ์ได้จัดการพื้นที่ไว้เรียบร้อยแล้ว
มีชีวิตรอดกลับมาวางไข่เพียง 10%
ปลาแซลมอนจะวางไข่ในช่วงต้นฤดูฝนและฤดูหนาวของทุกปี แต่การกลับมานั้นจะต้องพบกับอุปสรรคมากมาย จากการที่ว่ายน้ำเป็นระยะทางไกลมากจากมหาสมุทรทวนน้ำไปยังแหล่งต้นน้ำน้ำจืดจึงทำให้จำนวนของปลาที่กลับมาผสมพันธุ์กันได้สำเร็จมีเพียง 10% เท่านั้น ส่วนที่เหลือก็สูญหายและตายไประหว่างทางและถูกจับไปเป็นอาหารจากสัตว์ชนิดต่างๆโดยเฉพาะหมีกริซลี่
ใช้ดวงดาวนำทาง
มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ได้ศึกษาว่าการที่ปลาแซลมอนสามารถกลับมาผสมพันธุ์กันที่เดิมได้อย่างน่าเหลือเชื่อ เกิดขึ้นจากการใช้ดวงดาวนำทางหรือใช้ปรากฏการณ์บนท้องฟ้า เช่น ตำแหน่งดวงอาทิตย์และการเคลื่อนที่ของดวงดาวมาเป็นตัวช่วยในการนำทางให้ปลากลับมาอย่างถูกที่เหมือนเดิมทุกครั้ง
ลูกอ่อนมีอาหารพร้อมในถุงไข่
เมื่อลูกปลาเกิดมาเป็นตัวอ่อน ทั้งตัวจะมีเพียงหางเท่านั้นที่ทำให้ตัวปลาเคลื่อนที่ได้ โดยใช้เวลาในการฟักตัวประมาณ 3-4 เดือน ในหลุมจะมีไข่ทั้งหมด 2,000-10,000 ฟอง และแต่ละตัวจะมีถุงไข่ติดตัวมาด้วย ซึ่งถุงไข่นั้นจะเป็นอาหารประจำตัวของตัวอ่อนอยู่ตลอดจนกระทั่งโตถุงก็จะหายไป ลูกอ่อนของปลาแซลมอนในแต่ละสายพันธุ์จะมีความแกร่งที่ไม่เท่ากัน ดังเช่นสายพันธุ์ชีนุ๊คจะเริ่มว่ายกลับทะเลตั้งแต่ยังเป็นลูกอ่อน แต่สายพันธุ์โคโฮกลับต้องอาศัยอยู่ในน้ำจืดนานเป็นปีถึงจะยอมกลับไปสู่ทะเล นอกจากนี้ยังมีปลาแซลมอนบางตัวที่ไม่ยอมออกทะเลและใช้เวลาอยู่ในทะสาปนานกว่า 3 ปี ถึงจะยอมออกไปสู่ทะเลอีกด้วย
2 ปีแห่งความอดทน
โดยทั่วไปแล้วลูกปลาแซลมอนจะมุ่งสู่ทะเลเมื่ออายุได้ 2 ปี หรือเมื่อมีความยาวลำตัวประมาณ 5 นิ้ว ซึ่งเป็น 2 ปีที่ต้องอดทนสูงมาก เพราะต้องเอาชีวิตรอดจากอุปสรรคต่างๆ ทั้งใต้น้ำและสัตว์กินปลาบนบก ซึ่งปลาแซลมอนอายุ 2 ปีส่วนใหญ่จะไปอาศัยอยู่บริเวณปากแม่น้ำที่เป็นน้ำกร่อย ซึ่งเป็นบริเวณที่ผสมกันระหว่างน้ำจืดและน้ำเค็ม เพื่อปรับสภาพตัวเองให้อยู่ในน้ำเค็มได้ เมื่อพร้อมแล้วก็จะออกสู่ท้องทะเล
กลับสู่ท้องทะเลเมื่อโตเต็มวัย
เมื่อปลาแซลมอนมุ่งสู่ท้องทะเลแล้วมีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป นั่นเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ามันโตเต็มวัยแล้ว ปลาแซลมอนในช่วงนี้จะเน้นกินกุ้ง ปลาหมึก และปลาตัวเล็ก โดยจะออกไปอาศัยอยู่ห่างจากแหล่งเกิดหรือห่างจากปากแม่น้ำถึง 2,000 ไมล์เลยทีเดียว
การวางไข่คือความพยายามครั้งสุดท้าย
ปลาแซลมอนโด่งดังมากเรื่องความพยายามในการว่ายทวนน้ำเพื่อไปวางไข่ เมื่อปลาแซลมอนรู้ตัวว่าต้องกลับมาวางไข่เพื่อขยายเผ่าพันธุ์ตัวเอง จะทำทุกวิถีทางที่จะว่ายกลับมาเพื่อวางไข่ และเมื่อความพยายามสุดท้ายเป็นผล ปลาแซลมอนที่ผสมพันธุ์เสร็จแล้วก็จะตายลงภายใน 1 สัปดาห์ พร้อมกลายเป็นอาหารของสัตว์ในธรรมชาติต่อไป
ประโยชน์ของแซลมอน
ปลาแซลมอนถือว่าเป็นเนื้อสัตว์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก โดยมีกรดไขมันโอเมกา-3สูง, โปรตีนสูง, กรดอะมิโนธรรมชาติ, วิตามินเอ, วิตามินดี, วิตามินB6, วิตามินB12 พร้อมไปด้วยแร่ธาตุอีกหลากหลายชนิด เช่น ไนอาซิน, ไรโบเฟลวิน, ธาตุเหล็ก, แคลเซียม, สังกะสี และแมกนีเซียม สามารถรับประทานได้อย่างมีคุณค่าทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพราะเป็นเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย มีประโยชน์ต่อร่างกายสูงมาก ไม่มีโทษ ช่วยลดอัตราความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจและโรคมะเร็งได้ดีอีกด้วย
แซลมอนมีประโยชน์แต่ต้องระวัง
ปลาแซลมอนมีประโยชน์ต่อร่างกายของมนุษย์สูงก็จริง แต่ก็ยังต้องระวังเรื่องการทานสดให้มาก เพราะในเนื้อปลาแซลมอนมีพยาธิชนิดอะนิซาคิสและไมโซซัวอยู่ด้วย ซึ่งจะมีลักษณะเป็นเม็ดขาวๆแข็ง ดังนั้นจึงควรเน้นเรื่องความสะอาดให้มาก รับประทานซูชิหรือเนื้อปลาแซลมอนสดจากแหล่งหรือร้านอาหารที่ไว้ใจได้ แต่ถ้าทานแบบปรุงสุกได้ก็จะดีที่สุด
เมนูแซลมอน จานโปรดของหลายๆคน
ปลาแซลมอนนั้นเป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วโลกเนื่องจากรสชาติอันโดดเด่น มีความหวานและมันของเนื้อจึงสามารถประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ที่ฮิตติดชารต์คงหนีไม่พ้น ซาชิมิ เสต็ก รวมไปถึง ปลาแซลมอนย่างซิอิ๊วหรือย่างเกลือ หัวปลาแซลมอนต้มซิอิ๊ว
แซลมอนในท้องตลาดส่วนใหญ่นั้นมาจากฟาร์ม
ในปัจจุบันนั้นมีการบริโภคกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ประเทศนอร์เวย์เป็นผู้ผลิตและส่งออกที่ใหญ่ที่สุดในโลกถึง 1.3 ล้านตันต่อปี เกือบทั้งหมดเป็นปลาที่เลี้ยงในฟาร์ม เนื้อของปลาแซลมอนฟาร์มปกติจะมีไขมันและลายมากกว่าแซลมอนธรรมชาติ
น้ำมันมะกอก และมะกอกโอลีฟ เครื่องปรุงเพื่อสุขภาพสารพัดประโยชน์
น้ำมันมะกอกเป็นวัตถุดิบปรุงอาหารหลักตัวหนึ่งในอาหารฝรั่งโดยเฉพาะอาหารสไตล์หรืออาหารแถบเมอดิเตอเรเนียน เป็นน้ำมันสารพัดประโยชน์สามารถใช้ทำอาหารทาผิว หมักผม ในบทความนี้ ทางร้านช้อนกลางจะพาท่านไปทำความรู้จักกับเรื่องราวของ น้ำมันมะกอก ว่ามีที่มา ผลิตอย่างไร มีเรื่องราวน่าสนใจอะไรบ้าง รวมทั้งสถานที่ปลูกของมันมะกอกที่ช้อนกลางนำมาเล่าให้คุณฟัง ดังนี้
รู้จัก มะกอกโอลีฟวัตถุดิบทำน้ำมันมะกอก
ต้นมะกอกนั้นเป็นไม้ยืนต้นที่ชื่นชอบดินร่วนซุย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Olea europaea ส่วนใหญ่ต้นมะกอกที่ใช้ทำน้ำมันมะกอกนั้นจะมีลำต้นใหญ่ยอดเป็นพุ่ม มีถิ่นกำเนิดและปลูกมากแถบประเทศเมดิเตอร์เรเนียน เช่น กรีก อิตาลี สเปน ความสูงลำต้นประมาณ 15-25 เมตร ซึ่งมะกอกที่กล่าวถึงนี้คนไทยจะเรียกว่า มะกอกฝรั่ง ซึ่งแบ่งเป็น มะกอกเขียว มีเนื้อแน่นนิยมทำคอกเทล และมะกอกดำที่เริ่มมีสีคล้ำออกม่วง ๆ นิยมใส่ในสลัดและเป็นเครื่องเคียงอาหารสไตล์ยุโรป มีกลิ่นหอมอ่อนๆและรสขมเฝื่อน มีขนาดเท่านิ้วมือ นิยมนำมาบ่มดองถนอมอาหารก่อนรับประทาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มรสชาติหรือเติมวัตถุดิบเครื่องเทศหรือสมุนไพร
ผลมะกอกโอลีฟดอง สามารถแบ่งได้คร่าวๆดังนี้
● มะกอกบ่มด้วยน้ำสะอาด สำหรับการดองมะกอกสีเขียว ช่วยให้รสขมหายไป หลังจากแช่น้ำเปล่า 1 สัปดาห์ก็เติมน้ำเกลือ พร้อมกับแช่เย็นก่อนรับประทาน
● มะกอกโอลีฟดองในน้ำเกลือ เพื่อให้รสขมจางหาย และปรุงด้วยน้ำส้มสายชูหรือไวน์แดง
● มะกอกโอลีฟดองเกลือแบบแห้ง นิยมใช้มะกอกดำดองกับเกลือไว้ในกล่องไม้ รองกับแผ่นพลาสติกเพื่อให้ความขมจางหาย
มะกอกเขียวและมะกอกดำ ต่างกันอย่างไร?
จริงๆแล้ว มะกอกเขียวและมะกอกดำนั้นเป็นผลมาจากมะกอกต้นเดียวกัน โดยมะกอกเขียวถูกจะเก็บเกี่ยวเมื่อผลมะกอกยังดิบอยู่ ส่วนมะกอกดำจะเป็นผลที่เก็บเกี่ยวเมื่อผลสุกบนต้น เนื้อของมะกอกเขียวจะมีความแน่นมากกว่าและมีความขมมากกว่า ส่วนมะกอกดำนั้นมีความนุ่มมากกว่า มีรสขมน้อยกว่าและมีประโยชน์มากกว่า มีโอเมก้าสูง มีกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายมากกว่ามะกอกสีเขียว
ขั้นตอนการผลิตน้ำมันมะกอก
เนื่องจากในผลมะกอกนั้นมีไขมันอยู่ปริมาณมากดังนั้นเราจึงสามารถนำมาแปรรูปผลิตผลิตเป็นน้ำมันมะกอกเพื่อการบริโภคได้ ไปดูกันว่าขั้นตอนการทำน้ำมันมะกอกมีอะไรบ้าง
● เก็บเกี่ยวผลมะกอกที่สดใหม่จากต้น
● คัดแยกไม้หรือเศษอื่นๆ ที่ปะปนมาออก
● นำมาล้างให้สะอาด โดยให้น้ำเย็นไหลผ่าน
● ซับน้ำบนผลมะกอกและผึ่งให้แห้ง
● นำผลมะกอกใส่เครื่องที่บดให้แหลกกลายเป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อแยกน้ำมัน ส่วนใหญ่จะบดมะกอกทันทีหลังจากเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีที่สุด
● พร้อมกับผ่านกระบวนการการผลิตด้วยการคั้น (Pressing) แยกน้ำมันสกัดเย็น (Cold Pressed) ที่อุณหภูมิไม่เกิน 27 องศาเซลเซียล นิยมเก็บน้ำมันมะกอกไว้ในที่แห้งและเย็น อย่างไรก็ดี น้ำมันมะกอกแบบโฮมเมดจะอร่อยที่สุด 2-4 เดือนหลังจากผลิตเสร็จคงคุณค่าสารอาหารและประโยชน์ของมะกอกเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน
ประเภทน้ำมันมะกอก
น้ำมันมะกอกนั้นสามารถแบ่งประเภทคร่าวๆได้ดังนี้
1. น้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้น (Extra Virgin Olive Oil)
เพราะเป็นเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้น แน่นอนว่าต้องเป็นน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์พิเศษผ่านการสกัดเย็นจากผลมะกอก น้ำมันชนิดนี้ได้จากการบีบลูกมะกอกสด ๆ เน้นมะกอกสุกสีดำที่มีคุณภาพมีราคาแพงคุณภาพดีที่สุด น้ำมันที่ได้จากการบีบครั้งแรกจะถูกเรียกว่า Extra Virgin นิยมทานสด ๆ ราดสลัด หรือซอสพาสต้า ห้ามใช้ปรุงอาหารกับความร้อน เพราะจะทำให้เสียประโยชน์จากมะกอกไปโดยสิ้นเชิงอีกทั้งยังสามารถเกิดสารพิษได้ด้วยเนื่องจากเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้นทนความร้อนได้ต่ำ
ประโยชน์ของน้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้น : กลิ่นหอม มีประโยชน์ต่อร่างกาย สามารถรับประทานได้ทันทีไม่ยุ่งยาก ห้ามปรุงโดยผ่านความร้อนเด็ดขาดเนื่องจากจะกลายเป็นสารพิษ นิยมนำมาทำเป็นน้ำสลัด
2. น้ำมันมะกอกเวอร์จิ้น (Virgin Olive Oil)
สำหรับน้ำมันมะกอกเวอร์จิ้นเป็นน้ำมันบริสุทธิ์ที่สกัดมาเพื่อปรุงอาหาร จะใช้มะกอกแก่กว่า แต่ยังคงดีต่อสุขภาพเช่นเดียวกับน้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้น เพียงแต่ราคาประหยัดกว่า นิยมทานเช่นเดียวกัน และไม่นิยมใช้เป็นน้ำมันทอดอาหารหรือผัด ห้ามผ่านความร้อนเด็ดขาด เพราะจะทำให้เสียคุณค่าทางอาหาร
ประโยชน์ของน้ำมันมะกอกเวอร์จิ้น : สามารถรับประทานได้ทันทีกับสลัด ปรุงรสร่วมกับซอสพาสต้า
3. น้ำมันมะกอกแบบผ่านกรรมวิธี (Refined Olive Oil)
น้ำมันมะกอกแบบผ่านกรรมวิธีที่ถูกสกัดจากความร้อน นำเอาสี กลิ่น รสชาติออกไปทำให้น้ำมันใส ราคาไม่แพงมาก เป็นน้ำมันที่ทนความร้อนสูงมีให้เลือกหลากหลายชนิด Light Olive Oil และ Extra Light Olive Oil จัดอยู่ในประเภทนี้เช่นเดียวกัน
ประโยชน์ของน้ำมันมะกอกแบบผ่านกรรมวิธี : นิยมใช้ทอดเป็นหลัก ไม่นิยมรับประทานสด
4. น้ำมันกากมะกอก (Olive Pomace Oil)
มาถึงน้ำมันกากมะกอก เป็นน้ำมันที่สกัดออกมาจากกากมะกอกอีกครั้งสามารถนำไปประกอบอาหารได้ นิยมใช้กับอาหารที่ทอดเวลานาน เช่น ทอดปลา ทอดไก่ ทอดหมู ซึ่งมีข้อแตกต่างคือมีคุณค่าทางร่างกายไม่มาก จึงเป็นน้ำมันมะกอกที่ไม่ค่อยนิยมนำมาทานสด ๆ เท่าไหร่นักซึ่งใกล้เคียงกับน้ำมันมะกอบแบบผ่านกรรมวิธีด้านบน
ประโยชน์ของน้ำมันกากมะกอก : นิยมใช้ทอดอาหารเป็นหลัก ไม่นิยมทานสด
5. น้ำมันมะกอกแลมพันเต้ (Lampante Oil)
ส่วนน้ำมันมะกอกลัมพันเต (Lampante Oil) ซึ่งมาจากคำว่า “Lampa” ภาษาอิตาลีหมายถึง ตะเกียง เป็นน้ำมันมะกอกที่ใช้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงเท่านั้น เพราะคุณภาพต่ำสุดไม่นิยมใช้ปรุงอาหาร
ทำความเข้าใจทั้งมะกอกและน้ำมันมะกอกแบบฉบับพื้นฐานกันแล้ว หากต้องการลิ้มรสอาหารอร่อยจากเมนูช้อนกลาง เมนูอาหารกล่องร้านช้อนกลาง รับทำข้าวกล่อง รับทำอาหารกล่อง พร้อมบริการจัดส่ง เดลิเวอรี่ สด สะอาด อร่อยได้เลย
ผักสลัด 9 ชนิดที่คนรักผักนิยมมีอะไรบ้าง
ผักสลัดมีอะไรบ้าง ผักสลัดมีกี่ชนิด ชนิดและประเภทผักสลัดเป็นหนึ่งในคำถามยอดนิยมที่สุดในปัจจุบันเนื่องจากเทรนด์การรักสุขภาพและการบริโภคสลัดผักเพิ่มขึ้นอย่างมาก คนรักสุขภาพ ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักและคนรักการรับประทานผักเป็นชีวิตจิตใจคงจะไม่พลาดกับผักสลัดที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หลายท่านนิยมทานผักสลัดเป็นอาหารเช้าหรืออาหารเย็นเพื่องเลี่ยงคาร์โบไฮเดรต สลัดที่มาในรูปแบบของข้าวกล่องอาหารกล่องก็ได้รับความนิยมมากเช่นเดียวกัน ผักสลัดนั้นนิยมทำเป็นเมนูสลัดราดน้ำสลัดรสชาติโปรด เช่น น้ำสลัดน้ำส้มบัลซามิค น้ำสลัดอิตาเลียน น้ำสลัดงาญี่ปุ่น น้ำสลัดมายองเนส น้ำสลัดซีซาร์ ฯลฯ หรือจะรับประทานคู่กับอาหาร เช่น ไก่อบ สเต็ก ปลา ซีฟ้ด ตามรูปแบบที่ชื่นชอบรับประทานก็สามารถอร่อยได้ทันที ซึ่งในปัจจุบันมีความนิยมนำผักสลัดหลากหลายประเภทมาผสมกันหรือที่เราเรียกกว่า มิกซ์สลัด ซึงสามารถนำผักสลัดตามลิสต์ด้านล่างใบบทความนี้มาผสมกันตามสไตล์และความชอบเองได้
ประวัติความเป็นมาของผักสลัดนั้นมีมาอย่างยาวนาน ตัวอย่างเช่น Lettuce หรือผักสลัดในตระกูล Lactuca sativa มีการปลูกครั้งแรกตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณหลายพันปีก่อนซึ่งในเวลาต่อมาชาวกรีกและชาวโรมันก็ได้นำเมล็ดผักชนิดนี้ไปปลูกอย่างแพร่หลาย มีการบริโภคอย่างมากเนื่องจากอร่อยและให้ความสดชื่น ซึ่งผักสลัดยอดนิยมในปัจจุบันมีอะไรบ้างและมีกี่ชนิดที่ผู้คนชื่นชอบ บางท่านอาจจะคุ้นตาแต่ยังไม่ทราบว่าแต่ผักสลัดแต่ละชนิดนั้นมีชื่อว่าอย่างไรและคุณสมบัติเป็นอย่างไร ช้อนกลาง ครัวมืออาชีพ รับทำอาหารกล่อง ข้าวกล่อง คุณภาพดี ทั้งอาหารไทยและยุโรป พร้อมที่จะแชร์ความรู้เกี่ยวกับผักสลัดให้คุณแล้ว
1. เรดโอ๊ค (Red Oak Lettuce)
หนึ่งในสลัดยอดฮิตคงหนีไม่พ้น "เรดโอ๊ค" เรดโอ๊คนั้นเป็นผักสลัดที่มีการบริโภคกันมาหลายร้อยปี มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Lactuca sativa มีต้นกำเนิดจากประเทศฝรั่งเศษ มีการกล่าวถึงและอ้างอิงในหนังสือตั้งแต่ปี ค.ศ. 1699 ซึ่งต่อมาได้ มีการเริ่มขายในท้องตลาดในปี ค.ศ. 1771 และขยายสู่ประเทศอังกฤษในช่วงคริสตศตวรรษที่ 18 เลยทีเดียว ซึ่งเรดโอ๊คมีวิตามินและสารต่อต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น วิตามินเอ วิตามินซี โฟเลต และธาตุเหล็ก สีของเรดโอ๊คจะมีสีแดงเข้มเบอร์กันดีบริเวณขอบใบหยักๆ อาจมีสีเขียวแซม เรดโอ๊คเป็นผักที่มีกากใยสูง สามารถช่วยการขับถ่ายได้เป็นอย่างดี เรดโอ๊คนั้นเหมาะสำหรับการทานสดมากกว่า ไม่เหมาะกับการปรุงร้อนเนื่องจากใบจะหมดและเสียสภาพง่ายมาก เช่น ใช้ปรุงเมนูสลัด หรือทานคู่กับเมนูเนื้อต่างๆหรือรับประทานสด ๆ
2. กรีนโอ๊ค (Green Oak Lettuce)
กรีนโอ๊ค มีชื่อทางวิทยาศาตร์ว่า Lactuca scariola var. sativa L. scariola var. integrata L. scariola var. Integrifolia โดยกรีนโอ๊คอยู่ใน Family Asteraceae กรีนโอ๊คเป็นผักสลัดสีเขียวสด มีใบหยักสีเขียวตลอดทั้งใบและก้าน มีลักษณะและรสชาติใกล้เคียงกับเรดโอ้ค มีรสชาติหวานนิดๆ กรอบ มีลักษณะเป็นพุ่ม ผักสลัดประเภทนี้เข้ากับน้ำสลัด และอาหารจานอื่น ๆ ได้อย่างดีเยี่ยม มีกากใยช่วยให้ย่อยอาหารได้เป็นอย่างดี กรีนโอ๊คมีวิตามินบี วิตามินซี และไฟเบอร์สูงช่วยเรื่องท้องผูก บำรุงสายตา กล้ามเนื้อ และเส้นผมได้เป็นอย่างดี มีแคลอรี่ที่ต่ำมากๆแถมยังรับประทานง่าย ล้างให้สะอาดเด็ดใบจัดลงจาน พร้อมกับราดน้ำสลัด หรือรับประทานสด ๆ ได้ตามชอบ
3. ผักคอส กรีนคอส หรือ ผักกาดโรเมน (Cos Lettuce or Romaine Lettuce)
ผักคอส หรือผักกาดโรเมนมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Lactuca sativa L. var. Longifolia ในประเทศอังกฤษมักจะเรียกว่า “คอส” แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกาอเมริกามักจะเรียกว่า “โรเมน” คาดกันว่ามีที่มาตั้งแต่สมัยอียิปต์ และชื่อ “คอส” นั้นถูกตั้งชื่อมาตั้งแต่สมัยกรีกโดยตั้งชื่อตามเกาะคอสของกรีกนั่นเอง จะมีลักษณะที่มีลักษณะไม่เหมือนผักสลัดประเภทอื่น ๆ เพราะมีใบสีเขียวเรียวยาวเป็นผักกรอบ ไม่ค่อยมีกลิ่นเหม็นเขียวของผักเท่าไหร่นัก ซึ่งคอสนั้นสามารถทนความร้อนได้ดีกว่าผักสลัดชนิดอื่นๆ ด้วยรสชาติผักที่เน้นหวานนิยมใช้ในเมนูซีซาร์สลัด ราวกับเป็นพระเอกของเมนูคู่กับเบคอนกรอบและมาพร้อมกับน้ำสลัดรสชาติกลมกล่อม โรยด้วยพาร์เมซานชีสขูดฝอยยกระดับความอร่อยให้สุขยิ่งขึ้นกว่าที่เคย บางครั้งชาวยุโรปนิยมตุ๋นทำซุป สำหรับผักคอสขึ้นชื่อว่าเป็นผักที่ช่วยในระบบขับถ่ายเช่นเคย และเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็ง มีสารต้านอนุมูลอิสระ
4. บัตเตอร์เฮด (Butterhead Lettuce)
"บัตเตอร์เฮด" อาจเรียนกว่าผักกาดบอสตัน หรือ บิบ ในอเมริกา เป็นผักสลัดที่คงคุณค่าโภชนาการ พร้อมกับความกรอบ ช่วยให้ผู้รับประทานรู้สึกสดชื่น และรีเฟรชทุกครั้งที่ได้ลิ้มลอง ถึงจะมีสีเขียวใกล้เคียงกับกรีนโอ๊คแต่สังเกตง่าย ๆ บัตเตอร์เฮดจะกลมมนกว่า อัดแน่นกว่า มีพุ่มที่สวยงามคล้ายกลีบดอกไม้ เป็นผักสลัดที่ทำได้หลายเมนูอร่อย เช่น รับประทานสดๆ เป็นสลัด สามารถใส่ในแฮมเบอร์เกอร์ หรือจะนาบกับกะทะรับประทานร่วมกับเนื้อย่างหอมๆ ก็ได้
5. ฟิลเลย์ไอซ์เบิร์ก (Frillice Ice Berg Lettuce)
ฟิลเลย์ไอซ์เบิร์ก เป็นสลัดที่นิยมมากในสหรัฐอเมริกาและเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศไทยในระยะหลังมานี้ ฟิลเลย์ไอซ์เบิร์ก มีใบสีเขียวอ่อนและสีเขียวเข้ม มีลักษณะอวบ กรอบ แปลกตา ลักษณะเป็นพุ่ม ฝอยหยิก ๆ เข้าหากัน โคนลำต้นตรงมีความชุ่มน้ำเป็นผักตระกูลสลัดที่สามารถปลูกในดิน หรือปลูกแบบไฮโดรโปรนิกส์ก็ได้อายุประมาณ 40-50 วันก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ ซึ่งสลัดฟิลเลย์ไอซ์เบิร์กนั้นค่อนข้างไม่ทนความร้อนจึงเหี่ยวเฉาง่าย นิยมทานสด ๆ อุดมไปด้วยสารอาหารเช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอื่น ๆ อีกเพียบ ซึ่งมีประโยชน์ช่วยบำรุงตำ แก้ปวด ขับเสมหะ ป้องกันมะเร็ง บำรุงร่างกาย ช่วยขับน้ำนมจึงดีกับคุณแม่มือใหม่ สร้างเม็ดเลือด ช่วยลดท้องอืดท้องเฟ้อ ขับถ่ายได้เป็นอย่างดีเยี่ยม
6. ผักกาดหอมคริปส์เฮด หรือ ผักกาดแก้ว (Iceberg or Crisphead Lettuce)
หนึ่งในผักเครื่องเคียงที่นิยมมากที่สุดต้องยอดให้ “ผักกาดหอมคริปส์เฮด หรือ ไอซ์เบิรก์” หรือนิยมบ้านเราเรียกกันติดปากว่า “ผักกาดแก้ว” มีหัวคล้ายกะหล่ำปลีแต่ใบจะบางกว่า มีลำต้นไม่สูงมาก ส่วนที่เห็นเป็นกลมๆนั้นเป็นใจกลางของต้นผักกาดแก้วที่อ่อนกว่า อุดมด้วยธาตุเหล็ก ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงฮีโมโกลบินดีต่อผู้ป่วยโรคเลือด ช่วยบำรุงร่างกายได้เป็นอย่างดี มีสรรพคุณช่วยให้นอนหลับง่าย ผ่อนคลาย ผักนี้อร่อยเพราะกรอบร่อน เคี้ยวแล้วให้รสสัมผัสชุ่มฉ่ำถึงเนื้อ นิยมทานสด ทำสลัด หรือร่วมกับอาหารเมนูยำ ลาบ หรือทานร่วมกับหมูย่างเกาหลีก็อร่อย
7. กรีนโครอล หรือ ผักกาดหอม (Green Coral Lettuce)
“กรีนโครอล” หรือที่คนไทยเรียกว่า “ผักกาดหอม” ที่มีใบหยักสวยช่วงข้อถี่ เป็นผักที่ชอบอากาศเย็น มีคุณค่าทางอาหารสูง อุดมไปด้วยวิตามิน ก่อนรับประทานควรล้างผักให้สะอาด ตัดราก ก่อนรับประทานสด สามารถใช้ตกแต่งอาหารให้สวยงาม สามารถทำเมนูได้หลากหลาย อาทิ สลัด แซนด์วิช ที่มีทั้งผักกรีนโครอล เรดโครอล มะเขือเทศ ผสมกับมอสซาเรลลาชีส และใบโหระพาสด พร้อมกับปรุงน้ำสลัดด้วยน้ำมันมะกอก และน้ำส้มสายชูบัลซามิกที่มีรสชาติเปรี้ยวเพิ่มรสได้เป็นอย่างดี หรือ เสิร์ฟพร้อมสาคูไส้หมู ข้าวเกรียบปากหม้อก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน
8. เรดโครอล หรือ ผักกาดหอมแดง (Red Coral Lettuce)
เรดโครอล อยู่ในตระกูลเดียวกันกับกรีนโครอล หรือผักกาดหอม แตกต่างกันที่สีสันของใบแต่รสชาติอร่อยไม่แพ้กันเลยสำหรับ เรดโครอล ผักสีแดงที่ให้แคลรอรี่ต่ำรสชาติขมเล็กน้อย มีแร่ธาตุหลายชนิดที่ดีต่อร่างกาย ช่วงที่ปลูกแล้วเรดโครอลอร่อยที่สุด คือ มกราคมถึงมิถุนายน และอีกช่วงคือตุลาคมถึงธันวาคม เป็นผักแต่งจานยอดนิยม ผักนี้ปรุงได้หลายเมนู สามารถย่างและทำเป็นเมนูสลัดผักย่าง เป็นเครื่องเคียงคู่เมนูยำช่วยดับเผ็ดได้
9. ผักร็อคเก็ต หรือผักอลูกูล่า (Rocket Arugula Lettuce)
ผักร็อคเก็ตเป็นผักสลัดที่มีความแปลกตาไม่เหมือนกับผักสลัดประเภทอื่น ด้วยลักษณะที่มีทรงรี เรียว ยาว มีสรรพคุณช่วยบำรุงกระดูกมีแคลเซียมสูง รสชาติก็ยังคงแตกต่างเพราะมีความเผ็ดซ่า เล็กน้อย ไม่หวานเหมือนผักสลัดข้างต้นที่เล่ามา ซึ่งผักร็อกเก็ตมีต้นกำเนิดในแถบเมดิเตอร์เรเนียน ปลูกมานานตั้งแต่สมัยโรมัน และได้รับความนิยมในโมร็อกโกมาก ๆ เข้ากันดีกับน้ำมันมะกอก เกลือ มะเขือเทศ นิยมมิกซ์รวมกันพร้อมกับโรยมอสเซอเรลล่าชีส
และไม่ว่าคุณจะชอบผักสลัดอะไร ชนิดไหน หรือผักสลัดประเภทอะไร หากคิดจะสั่งอาหารกล่อง หรืออาหารสำหรับงานจัดเลี้ยงสามารถดูเมนูอร่อยที่เว็บไซต์ www.chonklang.com อาหารอร่อย ปรุงสดใหม่ หน้าตาสวยงาม บรรจุภัณฑ์อย่างดีพร้อมบริการดีลอเวอรี่ได้สะดวกสบาย
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
● www.posttoday.com/life/health/359747
● www.specialtyproduce.com/produce/Red_Oak_Lettuce_5338.php
● www.aessensegrows.com/en/fresh-produce-catalog/green_oak_leaf_lettuce
● en.wikipedia.org/wiki/Romaine_lettuce
● www.bbc.com/food/butterhead_lettuce
● nutritiondata.self.com/facts/vegetables-and-vegetable-products/2476/2
● www.thai-thaifood.com/th/%E0%B8%9C%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%9F%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B9%84%E0%B8%AD%E0%B8%8B%E0%B9%8C%E0%B9%80%E %B9%8C%E0%B8%81/
● th.wikipedia.org/wiki/ผักกาดหอม
● www.lovemysalad.com/salapedia/lollo-bionda-green-coral-lettuce
● www.smartsme.co.th/content/44655
11 ประเภทชีส ที่คนรักชีสต้องรู้จัก
ชีส เป็นอาหารและวัตถุดิบหลักชนิดหนึ่งของอาหารตะวันตก เป็นอาหารที่มีการบริโภคมากติดอันดับต้นๆของโลกและมีหลากหลายชนิด ชีสนั้นทำมาจากนมของสัตว์ มีต้นกำเนิดและประวัติมาอย่างยาวนาน คำว่าชีสมีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า caseus ซึ่งแปลว่า เนยแข็ง เกิดขึ้นจากความบังเอิญ เพราะชนเผ่าเบดูอินเรร่อนอยู่ในทะเลทรายทำการแบกน้ำนมโดยใช้กระเพาะอาหารของแพะใส่น้ำนมบรรทุกไว้บนหลังอูฐเพื่อประทังชีวิต แต่ระหว่างการเดินทางนั้นต้องผ่านความร้อนและการเขย่า ทำน้ำนมในภาชนะกระเพาะแพะเกิดการแยกชั้นน้ำและไขมันออกจากกัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของชีสที่เกิดจากความไม่ตั้งใจ
อย่างไรก็ดี ยังมีประวัติศาสตร์ความเป็นมา ปรากฎพบในคัมภีร์ไบเบิลระบุว่า “นักรบโรมันไม่ว่าจะยกทัพไปที่ใดก็จะนำชีสไปด้วยเสมอ” ปัจจุบันมีประเภทชีสมากกว่า 3,000 ชนิดทั่วโลก ด้วยรสชาติละมุนนุ่มลิ้นรับประทานได้ทันที หรือจะใช้ประกอบอาหารก็อร่อยยิ่งทำให้ชีสกลายเป็นอาหารโปรดของใครหลายๆคนโดยปริยาย
ชีสคืออะไร
ก่อนจะทำความรู้จักทั้ง 11 ประเภทชีสยอดนิยม เรามาทำความรู้จักเบื้องต้นกันก่อนว่า ชีส (Cheese) คือ ผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากนมวัว นมแกะ หรือนมแพะ ซึ่งเป็นโปรตีนจากน้ำนมเป็นหลักแต่ให้น้ำตาลแล็กโทสน้อยกว่า จัดเป็นอาหารจำพวกโปรตีนใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ และมีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก ในชีสอุดมไปด้วยแคลเซียมที่มีมากกว่านมถึง 2 เท่า และยังมีโปรตีนและวิตามินดี ที่ดีต่อกระดูก ช่วยบำรุงดูแลเซลล์กล้ามเนื้อที่สึกหรอ และยังมีวิตามินบี 12 ช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงประสาท เพิ่มพลังงานได้เป็นอย่างดี ตามด้วยสังกะสี, ฟอสฟอรัส และไขมัน เหมาะกับทุกเพศทุกวัยสามารถรับประทานแล้วดีต่อสุขภาพ ลดความเสี่ยงกระดูกพรุน ข้อเข่าเสื่อม เสริมความแข็งแรงของฟัน ช่วยทำให้อิ่มนาน ลดระดับคอเลสเตอรอล และลดความเสี่ยงโรคเบาหวานได้ด้วย แต่ต้องรับประทานแต่พอดีถึงจะได้ประโยชน์กับร่างกาย
ชีสทำมาจากอะไร
ชีสทำมาจากน้ำนม ซึ่งผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรส์นมดิบ ใส่เชื้อแบคทีเรียลงไป พร้อมกับเติมเอนไซม์ที่ทำให้โปรตีนในน้ำนมจับตัวเป็นก้อนสีเหลืองมีและมีวิธีการบ่มตามอุณหภูมิ ความชื้นที่แตกต่างกันออกไปตามสูตรของแต่ละแห่งที่แตกต่างกัน และน้ำนมที่นำมาใช้ผลิตที่ไม่เหมือนกัน อีกทั้งประเภทของแบคทีเรียที่ใช้หมักแตกต่าง รวมทั้งระยะเวลาการผลิตที่ไม่เหมือนกันทำให้ชีสมีหลากหลายประเภทมาก ๆ
ชีสมีกี่ประเภท
สำหรับประเภทชีสแสนอร่อย สามารถแบ่งคร่าว ๆ ดังนี้
ชีสนุ่ม (Soft Cheese)
ชีสนุ่มเป็นชีสที่มีความเข้มข้นของครีมสูง ให้รสสัมผัสนุ่มนวล สีขาวละลายในปาก มักใช้เวลาในการบ่มชีสสั้น เช่น ชีสบรี (Brie Cheese), ชีสกามองแบร์ (Camembert Cheese) และ (Neufchatel Cheese) ซึ่งจะมีผิวด้านนอกบาง รับประทานแล้วรู้สึกใกล้เคียงกับครีม Soft Cheese นั้น Pairing ได้ดีมากกับไวน์ขาว เช่น Savignon Blanc ที่มีรสของผลไม้และไม่จัดมากไปเหมือนเช่นไวน์แดงซึ่งจะกลบรสชาติของชีส
ชีสกึ่งแข็ง-กึ่งนุ่ม (Semi Cheese)
ชีสประเภทนี้ปาก มักใช้เวลาในการบ่มนานกว่า Soft Cheese แต่สั้นกว่า Hard Cheese แบ่งออกเป็น ชีสกึ่งนุ่ม (Semi-Soft Cheese) มีความชื้นสูงและมีรสชาติอ่อน ๆ ไม่เข้มข้นมากนักเป็นวัตถุดิบที่มีหลากหลายมาก ๆ เช่น Milleens, Provolone, Raclette, Havarti, Munster และ Port Salut ฯลฯ ตามด้วยชีสกึ่งแข็ง (Semi-Hard Cheese) รสสัมผัสมีความชื้นต่ำไม่นิ่มและไม่แข็งเท่าไหร่นัก เช่น Cheddar Chesse และ Gouda Cheese
ชีสแข็ง (Hard Cheese)
มาถึงชีสแข็ง หรือเนยแข็งสีเหลืองที่เราพบเห็นบ่อยครั้งและรู้จักกันดีในเมนูอาหารมักจะใช้เวลาบ่มนานกว่าชีสประเภทอีก ๆ มีความชุ่มฉ่ำไม่มาก เน้นความหนา เนื้อค่อนข้างแข็ง เช่น ชีสพาร์เมซาน (Parmigiano-Reggiano or Parmesan Cheese) หรือ ชีสเพโคริโน (Pecorino Romano Cheese)
ประเภทชีสยอดนิยมที่คนรักชีสต้องรู้จัก
1. บรี (Brie Cheese)
ชีสบรีเป็นชีสที่ผลิตจากนมวัว เป็นชีสที่มีความนิ่มมากเนื่องจากการบ่มในระยะเวลาสั้นประมาณ 5-6 สัปดาห์ เป็นชีสที่มีต้นกำเนิดไกลถึงฝรั่งเศส ซึ่งถูกตั้งชื่อตามแคว้นต้นกำเนิดในฝรั่งเศษ สำหรับชีสบรี (Brie) มีลักษณะสีขาว บางครั้งอาจจะมีสีเทาเคลือบเป็นเปลือกด้านนอก มองดูผิวเผินคล้ายเค้กก้อนโต การรับประทานจะต้องฝานบาง ๆ รับประทานเนื้อในที่มีสีขาว นิยมรับประทานร่วมกับผลไม้รสหวานอย่างแอปเปิ้ล ลูกแพร ถั่วธัญพืช แยมผลไม้ น้ำผึ้ง แครกเกอร์ และขนมปังเป็นหลัก บางครั้งชาวฝรั่งเศสนิยมทานชีสบรีร่วมกับแชมเปญ เบียร์ และไวน์แดง เพราะให้รสสัมผัสที่นุ่มลิ้นอร่อยยิ่งขึ้น เป็นอีกประเภทชีสหลายคนชื่นชอบในรสชาติ
2. กามองแบร์ (Camembert Cheese)
Camembert Cheese นั้นมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับชีสบรีมาก สำหรับประเภทชีสอร่อยยอดนิยมอย่าง ชีสกามองแบร์ (Camembert) ซึ่งเริ่มผลิตตั้งแต่ปี ค.ศ. 1791 ที่เมืองกามองแบร์ แคว้นนอร์ม็องดี ประเทศฝรั่งเศส เป็นชีสที่มีความกลมกล่อมถูกใจคนรักชีสที่สุด เพราะมีความครีมมี่ ผสมกับรสชาติหวานนิดหน่อยมีเอกลักษณ์พิเศษมีความเป็นน้ำนมค่อนข้างชัดเจน หอมๆ มันๆ ผลิตจากน้ำนมวัว นิยมรับประทานร่วมกับไวน์แดง ขนมปัง ผลไม้ และยังเป็นวัตถุดิบหลักของหลายเมนูด้วย
3. มอสซาเรลลา (Mozzarella Cheese)
มอสซาเรลลาชีส (Mozzarella Cheese) เป็นชีสที่โดดเด่นเรื่องความยืด นุ่มหนึบ จัดอยู่ในกลุ่ม Semi-Soft Cheese นิยมใช้เป็นชีสโรยหน้าพิซซ่า ลาซานญ่า หรือแม้กระทั่งชีสทอดก็ใช้ชีสมอสซาเรลลา คนไทยมีภาพจำของชีสยืดจากชีสประเภทนี้ มีกำเนิดจากอิตาลีอีกเช่นกัน ในอิตาลีนิยมในน้ำนมควายในการผลิต ซึ่งมอสซาเรลลาทั่วไปจะมีสีขาว และมีสีเหลืองอ่อนบางครั้ง โดยขึ้นอยู่กับอาหารของสัตว์ที่กินเข้าไปในช่วงนั้น ซึ่งจัดเป็นชีสที่อร่อยกลมกล่อม
4. เฟตา (Feta Cheese)
เนยแข็งสีขาวเนื้อนุ่ม เฟตาชีส (Fata Cheese) มีจุดกำเนิดที่กรีซ ทำจากนมแกะหรือนมแพะ เป็นชีสสดที่มีรสเค็มไม่มาก ส่วนใหญ่ใช้ปรุงเมนูกรีกสลัด ซึ่งเป็นเมนูเพื่อสุขภาพ เพราะมีทั้งหอมแดง มะเขือเทศ แตงกวา ผักกาดแก้ว พริกหวาน มะกอกดอง ราดด้วยน้ำสลัดบาซามิค มิกซ์กับเฟตาชีสลงไป สลัดใช้ทานคู่กับสเต็กมื้อเด็ด และรับประทานตัดเลี่ยนร่วมกับเมนูปิ้งย่างบาบิคิวก็อร่อย
5. คอทเทจ (Cottage Cheese)
คนรักสุขภาพ หรือกำลังลดน้ำหนักต้องเลือกรับประทานคอทเทจชีส (Cottage Cheese) ด้วยไขมันต่ำ อุดมด้วยโปรตีน และมีโปรไบโอติกที่ดีต่อสุขภาพลำไส้ มองผิวเผินดูคล้ายป็อปคอน ส่วนใหญ่จะรับประทานร่วมกับของหวาน สลัด และผลไม้เพื่อช่วยเพิ่มรสชาติคล้ายกับรับประทานครีม บางครั้งก็ใช้คอทเทจชีสเป็นวัตถุดิบทำแพนเค้ก เพราะเพิ่มความหวานและอร่อยยิ่งขึ้น
6. มาสคาโปน (Mascarpone Cheese)
เป็นประเภทชีสที่มีรูปลักษณ์แตกต่างจากชีสประเภทอื่น ๆ ที่เล่ามาข้างต้นเล็กน้อย มาสคาโปนชีส (Mascarpone Cheese) เป็นครีมชีสที่อร่อยนุ่มลิ้น ละลายในปาก รสชาติดีมีต้นกำเนิดจากอิตาลี นิยมใช้เป็นวัตถุดิบเมนูขนมหวาน เช่น ทีรามิสุ พาย บานอฟฟี่ และอื่น ๆ แต่ด้วยความที่หาค่อนข้างยาก มาสคาโปนชีสจึงไม่ค่อยคุ้นหูคนไทยเท่าไหร่นัก
7. ชีสสวิส (Swiss Cheese)
เนยแข็งชีสสวิส (Swiss Cheese) ของเด็ดจากสวิตเซอร์แลนด์ ครองใจคนทั่วโลกมีรูปลักษณ์โดดเด่นด้วยรูกระจายเต็มเป็นโพลง ซึ่งเกิดจากการบ่มและมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ภายในเนื้อชีส โดยรวมชีสสวิสจะมีสีเหลืองทอง มีขนาดใหญ่เป็นชีสระดับตำนานที่เริ่มทำครั้งแรกที่จังหวัดไฟร์บอร์ก ใช้ระยะเวลาบ่มค่อนข้างนาน 10-18 เดือน รสชาติมัน ให้ความรู้สึกนุ่มและกรอบในเวลาเดียวกัน เรามักจะคุ้นเคยกับชีสชนิดนี้จากภาพในการ์ตูน ชาวต่างชาตินิยมทานร่วมกับไวน์องุ่นขาวที่มาจากสวิตเซอร์แลนด์ และแชมเปญ เพราะลงตัวเข้ากันดี สามารถรับประทานได้ทันทีแบบไม่ต้องปรุงรส หรือจะใช้เป็นส่วนผสมเมนูอาหารก็ได้
8. เชดดาชีส (Cheddar Cheese)
เชดดาชีส (Cheddar Cheese) เป็นเนยแข็งทำจากนมวัวประเภท Semi-Hard Cheese กึ่งอ่อนกึ่งแข็งที่มีชื่อเรียกตามเมือง Cheddar แคว้น Somerset แห่งประเทศอังกฤษ มีรสชาติเข้มข้น เป็นเนยแข็งที่หลายคนโปรดปราน เพราะใช้ประกอบอาหารหลากหลาย เช่น โรยหน้าสลัด โรยหน้ามันฝรั่งอบ และโรยบนหลายเมนูช่วยเพิ่มความอร่อย มีรสเค็มแต่ไม่ยืดเมื่อโดนความร้อน
9. กูวด้าชีส (Gouda Cheese)
กูวด้าชีส (Gouda Cheese) เป็นชีสกึ่งแข็งจากเนเธอร์แลนด์ ทำจากนมวัว เป็นหนึ่งในชีสที่ได้รับความนิยมมาก รูปลักษณ์แปลกตา มีลักษณะกลมแบนมีทั้งผิวสีแดงและสีเหลืองที่เคลือบเอาไว้ด้วยขี้ผึ้งพาราฟินเพื่อไม่ให้ชีสแห้งมากหลังจากเริ่มตากชีสให้แห้ง 2-3 วัน ซึ่งนิยมหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ รับประทานเสิร์ฟร่วมกับไวน์หรือเบียร์ มีความเค็มปนหวาน
10. พาร์มีซานชีส (Parmigiano-Reggiano or Parmesan)
พาร์มีซานชีส (Parmesan Cheese) เป็นชีสประเภทแข็ง (Hard Cheese) มีต้นกำเนิดจากประเทศอิตาลี สามารถพบเห็นเป็นวัตถุดิบหลักในการทำอาหารอยู่เป็นประจำ เช่น ขูดโรยบนซีซาร์สลัด, พิซซ่า, โรยปรุงรสให้เมนูสปาเก็ตตี้ซอสมะเขือเทศ เฟซตูชินี่ซอสเพสโต้ และสปาเก็ตตี้คาโบนาน่าให้อร่อย รสชาติเค็มมัน ซึ่ง พาร์มีซานชีส นั้นยิ่งบ่มนานยิ่งอร่อย มีระยะเวลาการบ่มสูงสุด 36 เดือน (ประมาณ 3 ปี) จะยิ่งเข้มข้นมาก ๆ
11. บลูชีส (Blue Cheese)
วัตถุดิบบลูชีส (Blue Cheese) เป็นชีสที่มีความเป็นเอกลักษณ์โดยใช้รา Penicillium ในการผลิตด้วย บลูชีสนั้นมีต้นกำเนิดจากฝรั่งเศส ซึ่งความบลูแต้มจุด ๆ สีฟ้าโทนเขียวนั้นมาจากเชื้อรา บลูชีสมีกลิ่นค่อนข้างเฉพาะตัว และมีรสเค็ม เข้มข้น นิยมทำเมนูอาหารอบชีสเป็นหลัก เช่น ไก่อบชีส และเบคอนอบชีส ใช้ทำซอส สามารถทานกับขนมปัง และไวน์ที่มีรสชาติหวาน ก็ได้อรรถรสที่แตกต่างออกไป บลูชีสนั้นมีหลายหลายชนิด เช่น Roquefort และ Bleu de Gex จากฝรั่งเศษ Gorgonzola จากเมืองมิลานประเทศอิตาลี
พาสต้ายอดนิยม 12 ชนิด ที่คนทั่วโลกชื่นชอบ
พาสต้าคืออะไร เส้นพาสต้ามีกี่แบบ เป็นอีกหนึ่งในคำถามที่คนไทยอาจสงสัยเนื่องจากมีการบริโภคพาสต้ากันอย่างแพร่หลายในบ้านเราแต่มีถิ่นกำเนิดมาจากยุโรป วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับพาสต้าให้มากขึ้น
พาสต้า (Pasta) เป็นอาหารที่ทำมาจากแป้ง เป็นหนึ่งในอาหารที่มีการบริโภคมากที่สุดชนิดหนึ่ง มีต้นกำเนิดจากประเทศอิตาลี ปัจจุบันสามารถพบเห็นได้ทั่วไปทั้งในภัตตาคารระดับดี ร้านอาหารทั่วไปรวมทั้งในข้าวกล่องอาหารกล่องที่ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่าย พาสต้านั้นมีมากกว่า 500 ชนิด สามารถแบ่งออกได้ชัดเจนเป็น 2 กลุ่ม คือ พาสต้าแบบสดที่เมื่อทำเสร็จก็ทำอาหารทันที พาสต้าชนิดนี้จะมีความนุ่มมากและพาสต้าแบบแห้งที่ในขณะเป็นเส้นจะมีความแข็ง ถ้าต้องการใช้ก็ต้องนำมาต้มและลวกน้ำเย็นเอง แบบเส้นแห้งจะมีข้อดีที่หาซื้อได้ง่าย เป็นรูปแบบสำเร็จ และเพียงแค่ทำซอสมาก็สามารถราดลงบนเส้นที่ต้มแล้วได้ทันที วิธีการปรุงพาสต้าคือการต้มจากเส้นพาสต้าที่แข็งให้กลายเป็นเส้นสุดที่อ่อนนุ่ม รับประทานคู่กับซอสชนิดต่างๆซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะนิยมทานกับซอสที่มีส่วนผสมของเนย น้ำมันมะกอก เครื่องเทศ และผักต่างๆ
พาสต้าทำมาจากอะไร พาสต้านั้นทำมาจากแป้งสาลี ไข่ไก่ น้ำ เกลือ และน้ำมันมะกอก เป็นอาหารที่ชาวอิตาเลียนทางตอนใต้นิยมมาก ตัวเส้นจะมีรูปร่างที่แตกต่างกันออกไป บางเส้นมีลักษณะกลมยาว บางเส้นอาจจะถูกรีดให้แบน หรือมีการยัดไส้หรือทำเป็นรูปเมล็ดข้าว บางคนอาจจะเรียกว่าเส้นพาสต้าแต่ในความจริงแล้ว พาสต้าไม่ได้มีเพยงรูปแบบเส้นเท่านั้น แต่มีรูปแบบอื่น เช่น แผ่น โบว์ หลอดอีกด้วย
สำหรับร้านอาหารต่างๆ ในอิตาลีจะเน้นใช้แต่เส้นพาสต้าสดมากกว่าพาสต้าแบบแห้งเนื่องจากมีความนุ่มและรสชาติที่พร้อมทานมากกว่า นอกจากนี้เส้นพาสต้ายังมีการแบ่งแยกกันด้วยเส้นที่ไม่มีไข่ผสมกับเส้นที่ผสมไข่อีกด้วย ด้วยความที่พาสต้าแต่ละแบบมีความแตกต่างกัน
ประเภทและชนิดพาสต้า ที่เป็นที่รู้จักและคนทั่วโลกนิยมนำมาทำอาหาร ดังนี้
1. สปาเก็ตตี้ (Spaghetti)
เส้นพาสต้าแบบ Spaghetti มีลักษณะกลมเป็นเส้นเล็กที่เรียวยาว ผู้คนทั่วโลกจะนิยมใช้พาสต้าชนิดนี้มาทำอาหารกันมากที่สุด เพราะสามารถเข้ากับซอสได้หลากหลายชนิดและมีการทำสีสันเส้นจากเดิมสีเหลือง ก็สามารถเพิ่มเติมวัตถุดิบให้เส้นสปาเก็ตตี้เป็นสีส้ม สีดำ หรือสีเขียวเพื่อให้ดูแปลกตามากขึ้นได้อีกด้วย
2. ลิงกวินี (Linguine)
ลิงกวินีเป็นพาสต้าแบบเส้น มีความคล้ายกับเส้น แต่มีความกว้างและแบนกว่าเส้นสปาเก็ตตี้ Spaghetti ลิงกวินีมีความกว้างประมาณ 6-9 mm เป็นเส้นที่นิยมนำมาทานคู่กับซอสที่เป็นน้ำมันทั้งหลาย เช่น ผัดกับน้ำมันมะกอก, ผัดกับน้ำมันโหระพา หรือผัดกับเครื่องทะเล เป็นต้น
3. เฟตตูชินี (Fettucine)
เฟตตูชินีเป็นพาสต้าที่มีลักษณะเป็นเส้นแบนยาว ซึ่ง Fettucine จะมีความแบนและกว้างกว่า Linguine แต่แคบกว่า Tagliatelle มักจะมาในรูปแบบม้วนเป็นก้อนที่มีความคล้ายกับริบบิ้น นิยมรับประทานคู่กับซอสที่มีความเข้มข้น เช่น คาโบนารา โบโลเนส หรือ ซอสครีมเห็ด
4. ราวิโอลี (Ravioli)
พาสต้าชนิดนี้มีชื่อเรียกว่า “ราวิโอลี” ซึ่งราวิโอลีนั้นไม่ได้เป็นพาสต้าแบบเส้นอย่างที่คนไทยคุ้นเคยกันมากนัก แต่มาแบบชิ้น มีความคล้ายคลึงกับเกี๊ยวที่เราทานกัน ด้านในจะมีไส้เป็นผัก ชีส หรือบางครั้งก็จะใส่เนื้อสัตว์เข้าไปด้วย โดยรูปลักษณ์ส่วนมากจะเป็นสี่เหลี่ยมที่มีขอบหยัก
5. ลาซานญา (Lasagna)
มาถึงอีกหนึ่งพาสต้าที่ได้รับความนิยมไม่น้อย คือ ลาซานญา ที่จะมีรูปลักษณ์เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ เวลาปรุงมักจะซ้อนกันเป็นชั้นๆ แล้วราดซอสทับลงไปแล้วนำไปอบ นิยมทานกับซอสที่มีรสจัดหรือมีความเผ็ดและฉุนนิดๆ พร้อมด้วยเนื้อสัตว์ต่างๆ ที่ปรุงรสแล้วทานคู่กันแล้วราดชีสทับด้านบนอีกชั้น
6. เพนเน่ (Penne)
เพนเน่เป็นพาสต้าแบบสั้น มีลักษณะเป็นทรงกระบอกเหมือนท่อ มีความกลวงตรงกลาง ส่วนปลายเฉียงแหลม ถ้านึกไม่ออกให้คิดถึงขนมยี่ห้อปาปริก้า เส้นเพนเน่จะเหมือนกับขนมชนิดนี้อย่างมาก
7. ริกาโตนี (Rigatoni)
ริกาโตนีเป็นพาสต้าที่มีลักษณะเป็นทรงกระบอกเหมือนท่อ มีความกลวงตรงกลาง ความคล้ายกับแพนเน่ แต่แตกต่างตรงที่มีหัวและท้ายของ ริกาโตนีจะตัดตรง ส่วนเพนเน่จะมีปลายที่ตัดฉียง
8. มักกะโรนี (Macaroni)
มักกะโรนีเป็นพาสต้าทรงกระบอกสั้นและมีความโค้งมน ในต่างประเทศมักนำมักกะโรนีมาอบกับชีส ส่วนในประเทศไทยนั้นได้รับความนิยมนำมาผสมผสานกับอาหารในแบบที่คนไทยรับประทาน เช่น มักกะโรนีผัดซอส ต้มยำมักกะโรนี และนำมาใส่เป็นส่วนหนึ่งของสลัดผัก เป็นต้น
9. ออโซ่ (Orzo)
เป็นพาสต้าที่มีรูปร่างเม็ดเรียว หัวท้ายแหลม เหมือนเมล็ดข้าว ซึ่งทำให้หลายๆคนสับสนหรือเข้าใจได้ว่าเป็นเมล็ดข้าว แต่รสสัมผัสนั้นจะมีความแข็งและลื่นกว่า Orzo นั้นมักนำไปทำเป็นสลัด
10. พาเฟลเล่ (Farfelle)
ฟาร์ฟาเล่เป็นพาสต้าชนิดสั้น มีหน้าตาเส้นคล้ายกับโบว์ เพราะเป็นเส้นสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็กที่ตัดปลายหยักทั้ง 2 ข้าง แล้วบีบตรงกลางให้ติดกันเหมือนโบว์ แต่คนอิตาลีจะมองว่าคล้ายคลึงผีเสื้อ นิยมนำมาทานคู่กับซอสมะเขือเทศเข้มข้นหรือโรยหน้าด้วยเนยแข็ง
11. ฟูซิลี่ (Fusili)
ฟูชิลี คือพาสต้าแบบเกลียวสั้น ปกติมักจะทำให้มีความหนามากกว่าพาสต้าอื่นๆ นิยมนำมาอบชีสและอบซอสชนิดต่างๆ ตัวเกลียวของฟูชิลีเองก็กินพื้นที่พอสมควรจึงต้องมีเนื้อแป้งที่หนากว่าเส้นแบบอื่น ซึ่งฟูชิลีนั้นมักพบการผสมผักต่างเข้าไปเพื่อเพิ่มสีสันของเส้นด้วย อาทิ บีทรูท มะเขือเทศ หรือผักโขม
12. คอนชิกลี (Conchiglie)
พาสต้าชนิดนี้คนไทยอาจเรียกว่าพาสต้าเปลือกหอย เพราะมีรูปลักษณ์ที่โค้งมนขนาดเล็กและมีลายด้านนอก แต่ด้านในจะเป็นเนื้อแป้งเรียบ จึงมีลักษณะที่คล้ายกับเปลือกหอยมาก พาสต้าชนิดนี้จะนิยมมาผัดหรืออบกับผัก ชีส และเนื้อสัตว์อีกเล็กน้อย
สำหรับซอสที่เหมาะทานคู่กับพาสต้าจะมีตั้งแต่ Olio ที่ผัดกับกระเทียมและน้ำมันมะกอก ซอสมะเขือเทศเข้มข้ม, ซอสโบโลเนส ซอสเนื้อ และซอสครีม ส่วนคนไทยก็จะมีการมิกซ์สูตรให้กลายเป็นผัดกระเพรา ผัดขี้เมา ผัดปลาเค็มหรือผัดกับซอสชนิดต่างๆ ที่คิดค้นขึ้นเอง เพื่อให้เข้ากับความต้องการของคนไทยมากขึ้น แต่ไม่ว่าคุณจะทานพาสต้ากับซอสแบบไหนก็ตาม เส้นพาสต้าก็ทำให้เราเห็นถึงความสำคัญและความนิยมที่ไม่แพ้เส้นอื่นๆ บนโลกเลยแม้แต่น้อย