น้ำมันพืช 10 ชนิดที่นิยมใช้ปรุงอาหาร

หมวดหมู่: บทความอาหาร | 24 กรกฎาคม 2562 | จำนวนเข้าชม (59,085)
น้ำมันพืช 10 ชนิดที่นิยมใช้ปรุงอาหาร

น้ำมันพืชในปัจจุบันมีหลากหลายชนิดมาก ประเภทน้ำมันพืชที่ใช้ปรุงอาหารนั้นสามารถพบเห็นได้มากมายเรียงรายตามชั้นวางในตลาดหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต หลายคนอาจอาจสงสัยว่า น้ำมันพืชปรุงอาหารมีกี่ชนิด แต่ละชนิดควรนำไปทำอะไร ชนิดไหนบ้างที่ใช้ในการทำอาหารร้อนเช่น ผัด ทอด ชนิดใดบ้างที่ใช้ปรุงอาหารเย็น ควรเลือกใช้ประเภทน้ำมันพืชให้เหมาะสมอย่างไร น้ำมันพืชแต่ละชนิดแต่ละประเภทมีความแตกต่างอย่างไร มีประโยชน์และข้อควรระวังอย่างไรบ้าง วันนี้ทีมงานช้อนกลางได้รวบรวมข้อมูลไว้แล้ว

1 น้ำมันถั่วเหลือง (Soybean Oil)

Soybean_Oil

น้ำมันถั่วเหลืองเป็นน้ำมันพืชปรุงอาหารยอดฮิตที่คนทำอาหารชื่นชอบและพบเห็นอยู่เป็นประจำอย่าง “น้ำมันถั่วเหลือง” ผลิตจากเมล็ดถั่วเหลืองที่ใช้อุณหภูมิสูงกว่า 60 - 88 องศาเซลเซียลอุ่นสกัดน้ำมันให้แตก หลังจากนั้นบ่มกับความชื้นทำให้ได้น้ำมันบริสุทธิ์ใช้ปรุงอาหารได้ ประโยชน์น้ำมันถั่วเหลืองดีต่อสุขภาพอุดมด้วยกรดไลโนเลอิกวิตามินอี และวิตามินเคที่ดีต่อสุขภาพเส้นผม กระดูก บำรุงผิวหนัง และลดความเสี่ยงความดันโลหิตสูง หากรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ

น้ำมันถั่วเหลือง เหมาะสำหรับ : ผัดอาหาร ใช้ปรุงทำขนม หรืออาหาร สามารถใช้ทำสลัดได้ ไม่ควรใช้น้ำมันถั่วเหลืองทอดเวลานาน

2 น้ำมันปาล์ม (Palm Oil)

Palm_Oil

น้ำมันปาลม์ผลิตมาจากผลปาล์มอุดมไปด้วยวิตามินอีและวิตามินเอใช้ประกอบอาหารประเภทผัด และทอดน้ำมันท่วมที่ทนความร้อนสูง ซึ่งน้ำมันปาล์มทอดอาหารอร่อยกว่าน้ำมันทั่วไป เพราะช่วยคงรสชาติเดิมเอาไว้ไม่เปลี่ยน แถมน้ำมันปาล์มยังมีข้อดีคือราคาไม่แพงทำให้คนปรุงอาหารนิยมใช้กันในวงกว้าง แต่มีปริมาณกรดไขมันไม่อิ่มตัวค่อนข้างสูงหากรับประทานปริมาณมากจะทำให้ร่างกายมีคลอเลสเตอรอลสูงได้

น้ำมันปาล์ม เหมาะสำหรับ : ทอด เพราะทำให้อาหารกรอบนาน อร่อย และมีสีสันส่วน คงรสชาติอาหารได้ดีกว่าน้ำมันประเภทอื่น ๆ

3 น้ำมันข้าวโพด (Corn Oil)

Corn_Oil
พูดถึงน้ำมันข้าวโพด เป็นน้ำมันพืชปรุงอาหารที่ทนความร้อน แต่น้ำมันข้าวโพดนั้นมีความแตกต่างจากน้ำมันปาล์ม เพราะเมื่อโดนความร้อนจะมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ จากข้าวโพด สร้างสีสันให้เมนูอาหารได้เป็นอย่างดี มาพร้อมกับกรดไขมันสำคัญดีต่อสุขภาพ ได้แก่ กรดโอเลอิก และกรดไลโนเลอิก มีแคลอรี่ต่ำ แนะนำให้รับประทานแต่พอเหมาะ ปัจจุบันมีให้เลือกซื้อหลากหลายสามารถเลือกได้ตามความต้องการ

น้ำมันข้าวโพด เหมาะสำหรับ : ใช้ทอดอาหาร นิยมใช้ทอดเฟรนฟราย

4 น้ำมันมะกอก (Olive Oil)

Oilve_Oil
เป็นอีกประเภทน้ำมันพืชใช้ปรุงอาหารที่ได้รับความนิยมในการปรุงอาหารยุโรปและตะวันตก กลิ่นหอมอ่อน ๆ ที่ทำให้น้ำมันมะกอกแตกต่างจากน้ำมันพืชชนิดอื่น ข้อควรระวังคือน้ำมันมะกอกนั้นสามารถแบ่งได้หลายประเภท ซึ่งน้ำมันมะกอกแต่ละประเภทนั้นจะทนความร้อนได้แตกต่างกัน ทิ น้ำมันมะกอกนี้เป็นน้ำมันที่ไม่สามารถทนความร้อนสูงได้ เช่น น้ำมันมะกอกเอ็กตร้าเวอร์จิ้น ผู้คนจึงนิยมรับประทานทอดไฟอ่อน ๆ หรือรับประทานกับผักสลัด ส่วนประเภทที่ทนความร้อนได้สูงจะเป็นประเภท Extra Light Olive Oil สามารถนำไปผัดหรือทอดได้

น้ำมันมะกอก เหมาะสำหรับ : Extra Virgin Olive Oil ใช้ปรุงอาหารที่ไม่ใช้ความร้อนเช่นทำน้ำสลัด ห้ามทอดนานหรือไฟที่ร้อนเกิน ฯลฯ Extra Light เหมาะสำหรับการทอดหรือผัดที่ใช้ความร้อนสูงได้

5 น้ำมันอะโวคาโด (Avocado Oil)

Avocado_Oil
สำหรับน้ำมันอะโวคาโด จัดเป็นน้ำมันพืชที่มีราคาค่อนข้างสูง มาพร้อมกับปริมาณไขมันอิ่มตัวสูงแต่น้อยกว่าน้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม ด้วยประโยชน์จากน้ำมันอะโวคาโดที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นอีกอาหารที่ถูกเรียกว่าเป็น Superfood เพราะมีประโยชน์สูงกินแล้วสุขภาพดี ไม่ต้องกลัวอ้วน ด้วยสรรพคุณช่วยลดคอเลสเตอรอลและป้องกันการอ้วนลงพุงได้เป็นอย่างดี

น้ำมันอะโวคาโด เหมาะสำหรับ : นิยมใช้เป็นน้ำมันย่างเนื้อ, หมู สเต็ก ใช้ปรุงน้ำสลัด และปรุงอาหารที่ใช้อุณหภูมิสูง หมักกับเนื้อก่อนย่างช่วยทำให้เนื้อมีรสชาติโดดเด่น

6 น้ำมันมะพร้าว (Coconut Oil)

Coconut_Oil
ถือเป็นอีกหนึ่งน้ำมันพืชเพื่อสุขภาพ เป็นอีกของดีขึ้นชื่อที่คนรักสุขภาพต้องมีติดบ้านไว้จริง ๆ สามารถเพิ่มไขมันดีหรือ HDL ได้ ส่วนใหญ่น้ำมันมะพร้าวในตลาดจะผลิตด้วยกรรมวิธีสกัดเย็นด้วยวิธีการเหวี่ยงที่ความเร็วสูง น้ำมันมะพร้าวประกอบด้วยไขมันที่อิ่มตัวสูง สามารเป็นไขได้ในอุณหภูมิปกติ แม้น้ำมันมะพร้าวจะใช้ปรุงอาหารได้ ปัจจุบันถูกนำมาเป็นตัวช่วยหมักผม ทาหน้า และเป็นไอเทมเสริมความงามที่หลากหลายอีกด้วย

น้ำมันมะพร้าว เหมาะสำหรับ : ผัด ทอด หรือทำขนม

7 น้ำมันคาโนลา (Canola Oil)

Canola_Oil
ส่วนน้ำมันคาโนลา สีใส เป็นน้ำมันปรุงอาหารที่นิยมนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นน้ำมันที่มีราคาค่อนข้างแพง อุดมด้วยไขมันอิ่มตัวน้อยเมื่อเทียบกับน้ำมันพืชชนิดอื่น ๆ พร้อมกับโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 มีกรดโอเลอิกสูงช่วยลดอัตราการเกิดเส้นเลือดหัวใจอุดตัน หากบริโภคแต่พอเหมาะจะเป็นน้ำมันที่ช่วยชะลอไม่ให้แก่ก่อนวัยอันควร และป้องกันความดันโลหิค โรคไต และมะเร็ง

น้ำมันคาโนลา เหมาะสำหรับ : ทอด ผัด ทำน้ำสลัดได้ทั้งหมดตามสะดวก

8 น้ำมันดอกทานตะวัน (Sunflower Oil)

Sunflower_Seed_Oil
จัดอยู่ในจำพวกเดียวกับน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด เนื่องจากน้ำมันดอกทานตะวันนี้ไม่ทนกับอุณหภูมิสูง ๆ แนะนำให้ใช้ผัดในความร้อนปานกลาง ใช้เป็นส่วนผสมตีซอสสลัด ในน้ำมันมีกรดไลโนเลอิกสูง มีสรรพคุณลดระดับคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอร์ไรด์ในเส้นเลือดได้

น้ำมันดอกทานตะวัน เหมาะสำหรับ : ผัดไฟอ่อน ทำน้ำมันสลัด ฯลฯ

9 น้ำมันงา (Sesame Oil)

Sesame_Oil
น้ำมันพืชปรุงอาหารช่วยชะลอไม่ให้หย่อนยานหรือแก่ก่อนวันอันควร คงต้องยกให้น้ำมันงา มีกลิ่นคล้าย ๆ กับถั่ว ด้วยสรรพคุณสารเซซามอลช่วยดูแลร่างกาย ลดความดันโลหิตช่วยให้เส้นเลือดไม่ตีบตัน และป้องกันการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้เป็นอย่างดี ส่วนใหญ่นิยมนำน้ำมันงาผัดปรุงรสอาหารจีน และใช้หมักเนื้อหมูกะทะก็อร่อย

น้ำมันงาเหมาะสำหรับ : ปรุงอาหารผัด และใช้หมักเนื้อ หมู ไก่ หรือทำน้ำสลัด

10 น้ำมันรำข้าว (Rice Bran Oil)

Rice_Bran_Oil
มาถึงน้ำมันพืชปรุงอาหารอันดับสุดท้ายอย่าง น้ำมันรำข้าวที่ราคาไม่แพง มีสรรพคุณใกล้เคียงกับน้ำมันมะกอก อุดมด้วยสารที่ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนในสตรีวัยทอง และมีสารต้านอนุมูลอิสระ สามารถทอดได้แต่ไม่ควรทอดนานเกินหรือใช้ความร้อนสูง เพราะจะทำให้เป็นผลเสียมากกว่าผลดี

น้ำมันรำข้าว เหมาะสำหรับ : ปรุงอาหารผัดทอดทั่วไปในระยะเวลาไม่นาน

เพื่อความเข้าใจ ขอสรุปการใช้งานน้ำมันพืชปรุงอาหารง่ายๆ

  • ปรุงอาหารทั่วไปใช้ผัด ทอดไฟอ่อน แนะนำ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนล่า น้ำมันงา น้ำมันข้าวโพด น้ำมันมะพร้าว
  • ทอดในอุณหภูมิสูงแบบน้ำมันท่วมอาหาร แนะนำใช้น้ำมันปาล์ม
  • ไม่แนะนำให้นำน้ำมันถั่วเหลืองมาใช้ทอดอาหารทุกชนิด

ทำรู้จักประเภทน้ำมันพืชเพื่อจะได้ซื้ออย่างถูกวิธีกันแล้ว ส่วนวิธีการเลือกน้ำมันที่ดีนั้น เราควรจะเลือกน้ำมันปรุงอาหารที่ปราศจากตะกอน สีเหลืองธรรมชาติ และไม่มีกลิ่นเหม็นหืน ที่สำคัญอย่าลืมเลือกใช้น้ำมันให้เหมาะกับการปรุงอาหาร รับประทานแต่พอดี อย่าใช้น้ำมันทอดซ้ำ หรือน้ำมันปรุงอาหารที่เสื่อมคุณภาพ เพราะจะส่งผลเสียต่อร่างกายและเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้นั้นเอง

 

คีย์เวิร์ด: น้ำมันพืช,ชนิดน้ำมันพืช,ประเภทน้ำมันพืช,น้ำมันพืชปรุงอาหาร,น้ำมันถั่วเหลือง,น้ำมันปาล์ม,น้ำมันข้าวโพด,น้ำมันมะกอก,น้ำมันอะโวคาโด,น้ำมันมะพร้าว,น้ำมันคาโนลา,น้ำมันดอกทานตะวัน,น้ำมันงา,น้ำมันรำข้าว